การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นชนิดฉันพลันทันด่วน  กรณีภัยพิบัติจากผลกระทบแผ่นดินไหวที่ไทยได้รับจากเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา จนถึง ณ วันนี้ ผู้คนในสังคมไม่เพียงแต่อยู่ในภาวะหลังผ่านความตื่นตระหนก มองเห็นความสูญเสีย ชีวิตของคนงานที่ติดอยู่ในตึกสตง.ถล่มซึ่งกำลังถูกนำร่างออกมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ซ้ำเติมไทยเข้ามา ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเดิม บวกกับปัญหาใหม่เมื่อต้องเจอกับมาตรการภาษี จากสหรัฐฯ ในยุคที่มี “โดนัล ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ 


 แน่นอนว่า สำหรับ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แล้วปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เธอจะมี “ทีมที่ปรึกษา” อยู่รายล้อมรอบตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “ลูกน้อง” ที่ “พ่อ” คือ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ส่งมาประกบตั้งแต่แรก 


 ขณะเดียวกัน เมื่องานในมือ ฐานะฝ่ายบริหาร และหัวหน้ารัฐบาล ยังต้องเดินหน้าต่อ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ต่างๆ ตามมา ทว่าการบริหารความขัดแย้งภายใน “รัฐบาลผสม” ยังถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นภารกิจเรื่องของการเมือง จึงต้องอาศัยผู้เป็น “พ่อ”  ยื่นมือเข้ามาช่วย 


 หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสร็จสิ้นอย่างฉลุย  แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับไม่มีความนิ่งมากพอที่จะทำให้ คนในรัฐบาลเชื่อได้ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้จนครบเทอม แม้ตัวนายกฯแพทองธาร จะปรากาศย้ำอยู่หลายครั้ง 

 ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ทักษิณ จึงต้องยื่นมือเข้ามาเพื่อคลี่คลาย และกดดันกลับในบางจังหวะ  แม้ตัวเขาเองยังติดปัญหาคดีมาตรา112 อยู่ก็ตาม 
 การที่ทักษิณ เคลื่อนไหวเดินสายพบปะ แกนนำของพรรค สลับไปกับการพบปะพี่น้องคนเสื้อแดงที่ผ่านมา ไปจนถึงการวางโปรแกรมไปเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์  ในราวกลางเดือนเม.ย.นี้ 

 ด้านหนึ่งคือการช่วงชิงพื้นที่สื่อ และอีกด้านหนึ่งคือการส่งสัญญาณใช้ยุทธการป่าล้อมเมือง  ตีโอบล้อม กระชับพื้นที่ทางการเมือง ไปจนกว่าการเลือกตั้งรอบหน้าจะมาถึง ซึ่งอาจเร็วกว่า 2570 !