รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้บนความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี  เช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างจากองค์กรอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันและพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน การนำ Big Data มาใช้ในบริบทของมหาวิทยาลัยถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร และชุมชนได้อย่างครอบคลุม และนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลขนาดใหญ่ในบริบทมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้าง เช่น ข้อมูลการลงทะเบียนเรียน ผลการเรียน ข้อมูลวิจัย และข้อมูลไม่มีโครงสร้าง เช่น ข้อความบนโซเชียลมีเดีย ภาพ วิดีโอ และข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถนำไปสู่การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่แม่นยำและการพัฒนานวัตกรรมในวงการการศึกษา ในทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้นำ Big Data มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการบริหารจัดการ

การนำ Big Data มาประยุกต์ใช้ในมหาวิทยาลัยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หลายด้าน ทั้งการปรับแต่งประสบการณ์ การเรียนรู้ของผู้เรียนให้เหมาะกับความสามารถและความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล การพัฒนาเนื้อหาการศึกษาด้วยข้อมูล เชิงลึกจากการวิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้และความชอบของนักศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนร่วมกันผ่านการจัดกลุ่มนักศึกษาที่มีรูปแบบการเรียนรู้คล้ายคลึงกัน การยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้แบบออนไลน์ และการเพิ่มอัตราการคงอยู่ของนักศึกษาโดยการคาดการณ์และให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่มีความเสี่ยงจะลาออกกลางคัน

ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศสหราชอาณาจักรได้ดำเนินการผ่านโปรแกรมวงจรชีวิตนักศึกษา โดยรวบรวมข้อมูลตั้งแต่การสมัครเบื้องต้น การสอบเข้า จนถึงการฝึกอบรมและการจ้างงาน ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาประสบการณ์นักศึกษาที่มีคุณภาพสูงและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น หรือมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเคนทักกี ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้การวิเคราะห์เชิงทำนายเพื่อระบุนักศึกษาที่อาจต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้อัตราการคงอยู่ของนักศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 75

แม้ว่า Big Data จะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่การนำมาใช้ในบริบทของมหาวิทยาลัย ก็ยังมีความท้าทายหลายประการ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องอาศัยงบประมาณสูง การขาดบุคลากรที่มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อัตราความล้มเหลวสูงในการนำ Big Data มาใช้ซึ่งพบว่ามีถึงร้อยละ 60-85 และการบูรณาการกับระบบเดิมที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีอยู่แล้ว

แนวโน้มในปี 2568 สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่ องค์กรเริ่มตระหนักว่า Big Data ไม่ใช่คำตอบเดียวเสมอไป และการใช้ข้อมูลจำนวนมากเกินไปกลับกลายเป็นปัญหา ทั้งในแง่ของต้นทุน การจัดการ และประสิทธิภาพ แนวคิด Small Data เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบวิเคราะห์ที่แม่นยำ ยั่งยืน และใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแนวคิดนี้เน้นการใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและเกี่ยวข้องกับเป้าหมายโดยตรง แทนที่จะใช้ข้อมูลจำนวนมากที่อาจมีสัญญาณรบกวน ข้อมูลซ้ำซ้อน หรือข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ

การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Big Data โดยข้อมูลขนาดใหญ่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา AI ให้มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยที่มีระบบ Big Data ที่ดีจะมีความได้เปรียบในการพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งสามารถยกระดับทั้งการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารจัดการ

เพื่อให้การใช้ Big Data ในมหาวิทยาลัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การบูรณาการ Big Data กับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย เช่น การบูรณาการกับกลยุทธ์ "Power of SDU" ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต การพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทและงบประมาณ และการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษาและบุคลากร

Big Data มีศักยภาพมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย แต่ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำ ทักษะของบุคลากร และวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยที่สามารถผสมผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับพันธกิจหลักของตนได้ลงตัว จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างยั่งยืน

การใช้ Big Data อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เพียงเรื่องของการมีข้อมูลมากเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “คุณภาพข้อมูล” และ “ความฉลาดใช้ข้อมูล” เพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจและการพัฒนาในทุกมิติของมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ก้าวหน้าพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมไม่หยุดหย่อน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อความอยู่รอด!!! ครับ