ในช่วงที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผชิญศึกในจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีบรรยากาศคุกรุ่นบริเวณชายแดนไทย-กุมพูชา กลับกลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง
โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 10.30 น. เกิดเหตุทหารกัมพูชาเข้าล้ำแดนไทยบริเวณบ้านคลองแผง ตำบลทัพเสด็จ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านบันเตียเมียนริด จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา โดยมีการผูกเปลและสร้างเพิงพักในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายเคยตกลงกันว่าจะไม่ใช้ประโยชน์หรือเข้าครอบครองตามบันทึกความเข้าใจ (MOU43)
เหตุการณ์นี้กลายเป็นกระแสร้อนบนโลกออนไลน์ หลังมีคลิปเผยภาพการโต้เถียงระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา ขณะทหารไทยพยายามขอความร่วมมือให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่ฝ่ายกัมพูชาไม่ยินยอม
เรื่องนี้พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า หน่วยเฉพาะกิจตาพระยา (ฉก.ตาพระยา) ได้ออกลาดตระเวนตามปกติ และพบการกระทำเข้าข่ายล้ำแดน จึงเข้าพูดคุยทักท้วงกับทหารกัมพูชา พร้อมขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบริเวณใกล้หลักเขตแดนที่ 36 โดยขณะนี้ได้มีการยื่นหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลกัมพูชาแล้ว เพื่อยืนยันสิทธิในเขตแดนของไทย และลดความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดน
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ไม่ควรมองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการยั่วยุ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง ปัญหาชายแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากทั้งสองประเทศใช้แผนที่ต่างฉบับกัน ทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันและอยู่ระหว่างการเจรจา และย้ำว่าการใช้สันติวิธีและความอดทนอดกลั้นคือแนวทางหลักในการแก้ไขข้อพิพาท และไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์บานปลายจนเกิดความสูญเสีย พร้อมระบุว่า รัฐบาลไทยมีจุดยืนชัดเจนในการใช้การเจรจาเป็นแนวทางหลัก และไม่ต้องการให้เกิดสงคราม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชายังคงแน่นแฟ้น และมีความเข้าใจที่ดีต่อกันผ่านสนธิสัญญา หากไม่หวั่นไหวต่อการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านในกัมพูชา ก็จะไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีรุ่นใหม่ทั้งสองประเทศ คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ พล.อ.ฮุน มาเนต นายทักษิณยืนยันว่า “พ่อเป็นเพื่อนกัน ลูกก็เป็นเพื่อนกัน จูนกันได้แน่นอน”
กระนั้น แม้ทั้งไทยกับกัมพูชาจะผูกพันใกล้ชิดแน่นแฟ้น แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องอาศัยศิลปะในการต่อรองเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ปัจจัยการเมืองภายในของสองประเทศเอง ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่จะเป็นตัวแปรต่อสถานการณ์