เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phogphit
ไม่มียุคใดที่มีความสะดวกสบายเท่าวันนี้ ไปไหนได้รวดเร็ว สื่อสารติดต่อกันได้ตลอดเวลาทุกแห่งหนในโลก “ฟรี” แบบเห็นหน้ากันได้อีกด้วย ดูละคร ดูหนัง ฟังเพลงทุกประเภทได้หมดในมือถือเล็กๆ
แต่ไม่มียุคไหนที่คนจะเป็นโรคซึมเศร้า เครียด บ้า และฆ่าตัวตายมากเท่าทุกทุกวันนี้ คนไทยมีปัญหา “สุขภาพจิต” ปีละ 10 ล้านคน ฆ่าตัวตายปีละกว่า 4,000 คน หรือวันละ 14 คน
โรคซึมเศร้าเป็นอาการที่รู้สึกเศร้า หดหู่ หรือสิ้นหวังต่อเนื่อง ไม่มีความสนใจหรือความสุขในชีวิต ในกิจกรรมที่เคยชอบ รู้สึกผิดหวัง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า มักตั้งคำถามว่า อยู่ไปทำไม ไม่อยากอยู่ อยากตาย
ทางร่างกายจะอ่อนเพลีย ไม่มีพลังงาน นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ขาดสมาธิ ตัดสินใจลำบาก หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม มักคิดในแง่ลบ เครียดง่าย
งานวิจัยพบว่าสาเหตุของโรคซึมเศร้ามีหลายอย่าง ความผิดหวัง ความน้อยใจ เสียใจ กับคนใกล้ชิด กับความรัก สูญเสียผู้เป็นที่รัก ปัญหาสุขภาพ เป็นโรคร้ายแรงเรื้อรัง ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง วิคตอร์ ฟรังเคิล (Viktor Frankl) จิตแพทย์ยิวชาวออสเตรีย รอดตายจากค่ายนรก ได้พัฒนาแนวทางจิตเวช “Logotherapy” ที่แตกต่างจากแนวคิดและวิธีของฟรอยด์
เขาอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ได้วิจัยที่นั่นพบว่า คนอเมริกันฆ่าตัวตายเป็นอันดับสาม รองจากโรคหัวใจและมะเร็ง แต่การพยายามฆ่าตัวตายเป็น 3 เท่าของคนที่ตายจริง สาเหตุหลักไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เพราะไม่เห็นความหมายของชีวิต “ไม่รู้อยู่ไปทำไม”
เขาอธิบายว่า ความว่างเปล่าของชีวิต (Existential Vacuum) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์รู้สึกสิ้นหวัง และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือการตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง "การค้นพบความหมาย แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดได้" เขาพูดจากประสบการณ์จริงที่ทำให้เขารอดตายจากค่ายนาซี
จิตบำบัดของฟรังเคิลจึงเริ่มจากการช่วยผู้ป่วยค้นหาความหมายในชีวิตของพวกเขา เช่น การสร้างผลงานหรือทุ่มเทให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง งานศิลปะ การศึกษา การสัมผัสประสบการณ์หรือความสัมพันธ์ อย่างความรัก มิตรภาพ การเปลี่ยนมุมมองต่อความทุกข์ อย่างมองว่าความเจ็บปวดสอนบทเรียนอะไร
การมีเป้าหมายหรือความหมายช่วยให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง เกิดควมหวัง ทำให้เห็นว่า แม้ในภาวะวิกฤต มนุษย์สามารถเลือกตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ สิ่งที่ฟรังเคิลรียกว่า "เสรีภาพทางจิตใจ"
อย่างไรก็ดี เขาแนะนำว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ซับซ้อน นอกจากปัจจัยทางจิตวิญญาณ ยังเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง พันธุกรรม หรือสภาพแวดล้อม การรักษาจึงควรใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น ยา ร่วมกับการบำบัดความคิด และการสนับสนุนทางสังคม
ในหนังสือ “ชีวิตไม่ไร้ความหมาย” (นายอินทร์ Man’s Search for Meaning) ฟรังเคิลเขียนว่า "ชีวิตมีความหมายเสมอ แม้ในความทุกข์" แต่การค้นหาความหมายนั้น บางครั้งต้องอาศัยเวลา ความช่วยเหลือ และความเข้าใจจากสังคมรอบตัว
ทำให้คิดถึงอัลแบร์ต คามูส์ นักปรัชญาที่พูดเรื่อง “ชีวิตที่ไร้ความหมาย” (Absurdity) อธิบายว่า "ความไร้สาระ" เกิดจาก ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ที่แสวงหาความหมาย กับโลกที่เงียบงันและไม่ตอบสนอง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ดูเป็นวัฏจักรที่ไร้จุดหมาย ทำให้มนุษย์รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และสิ้นหวัง กระนั้น เราสามารถเลือกสร้างความหมายให้ชีวิตได้
ในหนังสือ The Myth of Sisyphus คามูส์ เปรียบชีวิตมนุษย์เหมือนซิซิฟุสในตำนานกรีก ที่ถูกสาป ต้องเข็นก้อนหินขึ้นภูเขาเพียงเพื่อให้มันกลิ้งตกลงมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชีวิตคือการทำสิ่งเดิมๆ ไร้ความหมายแบบวนลูป วันแล้ววันเล่า ทำอะไรเหมือนๆ กันทุกวัน จนเบื่อ เซ็ง และรู้สึกถึงความไร้สาระ
คามูส์บอกว่า เพื่อเอาชนะหรือก้าวพ้นความไร้สาระของชีวิต เราต้อง "กบฏ" ต่อความไร้สาระ ไม่ต้องฆ่าตัวตาย ไม่ต้องยอมจำนน แต่ให้ยอมรับความไร้สาระอย่างเต็มใจ ไม่ปฏิเสธหรือหลอกตัวเอง
เขาเสนอให้สร้างความหมายผ่านการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ แม้รู้ว่าชีวิตสิ้นสุดที่ความตาย ให้ค้นหาความสุขในปัจจุบัน เช่น ความรัก ความงาม การสร้างสรรค์
เขาบอกว่า "เราต้องจินตนาการว่าซิซิฟุสมีความสุข" แม้ชีวิตจะวนเวียนกับความยากลำบาก แต่เราสามารถเลือกที่จะมีความสุขในกระบวนการต่อสู้ได้
เขาเชื่อว่า ความหมายไม่ได้มีอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะที่เชื่อถือต่อๆ กันมาทางประเพณี ความเชื่อ ศาสนา ปรัชญา แต่เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ผ่านการมีอิสระทางจิตใจ (Freedom) ไม่ถูกผูกมัดด้วยกรอบความคิดเดิม ๆ เลือกดำเนินชีวิตตามค่านิยมส่วนตัว แม้สังคมจะมองว่า "แปลก"
คามูส์ชื่นชมแนวคิดของนิทเช่ นักปรัชญาเยอรมันที่แนะนำให้คนปลดปล่อยจากประเพณีเรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่ที่เป็นภาระทางประวัติศาสตร์ ให้เป็นตัวของตัวเอง เป็น “อภิมนุษย์” ที่สร้างความหมายชีวิตของตัวเอง
คามูส์คิดเหมือนซาร์ตร์ นักปรัชญาฝรั่งเศสผู้โด่งดังอีกคนที่แนะนำว่า อย่าไปเอาความคิดเห็นของคนอื่นมาตัดสินตนเอง ให้ความทุกข์แก่ตัวเอง ถ้าคุณ “แคร์” เขาทุกอย่าง “คนอื่นคือนรก” คุณต้องเป็นตัวของตัวเอง
คามูส์แนะนำว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่มีความหมาย ให้ใช้ชีวิตเต็มที่ด้วยไฟปรารถนา (Passion) หาความสุขจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น กลิ่นกาแฟยามเช้า เสียงคลื่น เสียงดนตรี ทุ่มเทกับงาน ศิลปะ หรือความสัมพันธ์ โดยไม่หวังผลตอบแทน การยอมรับว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ไม่โทษโชคชะตาเมื่อเผชิญเคราะห์ร้าย
ให้มองว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต ความสุขอยู่ที่การทุ่มเทให้งานในแต่ละวัน การสูญเสียคนรักอาจทำให้คุณถามว่า "ชีวิตมีความหมายอะไรอีก" แต่คามูส์ชวนให้ “รำลึกถึงความทรงจำที่ดี และใช้ชีวิตต่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้จากไป"