ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ณ ตอนนี้คงไม่มีเรื่องใดที่จะร้อนแรงไปได้เท่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา คอลัมน์ มองโลกเหลียวไทย by อาจารย์จา ต้องขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียทุกรูปแบบ และขอเป็นกำลังใจให้ทั้งชาวเมียนมาและชาวไทยทุกคนครับ
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้ว เราคงจะไม่พูดถึงมันไม่ได้ เพราะนี่เป็นตัวอย่างที่คนไทยได้พบกับตัวเองแล้ว จากที่รู้สึกว่า “แผ่นดินไหว” เป็นเรื่องไกลตัว ใช่ครับ แผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่เราๆท่านๆไม่คุ้นเคยแน่นอน เพราะประเทศไทยของเราไม่ได้อยู่บนเส้นแบ่งเขตเปลือกโลก หรือที่เรียกกันว่า “Ring of Fire” ทำให้แผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมากๆในประเทศไทย หากเทียบกับประเทศที่อยู่บนเส้นแบ่งเขตเปลือกโลก เช่น ญี่ปุ่น เมียนมา หรือ รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา
แต่อย่างไรก็ดี ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นผลกระทบครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา...
คอลัมน์มองโลกเหลียวไทยเราเคยนำเสนอเรื่องราวของแผ่นดินไหวไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 หรือเกือบหนึ่งปีพอดิบพอดี เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวที่ไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งในครั้งนั้นเราได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาสะท้อนให้เห็นภาพของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามความมั่นคงที่สำคัญในปัจจุบัน เช่นเดิมครับ ครั้งนี้ก็อยากจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติในฐานภัยคุกคามความมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง…
“ความน่าสนใจของภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ประการที่หนึ่ง คือความ “ควบคุมไม่ได้” ของภัยชนิดนี้ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าภัยทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นจากธรรมชาติ แม้เทคโนโลยีของมนุษย์จะพอคาดการณ์ได้บ้าง แต่เราก็ยังไม่สามารถควบคุม ทำให้เล็กลง หรือทำให้มีอันตรายน้อยลงได้ จนทำให้หลายต่อหลายครั้งยากเกินจะรับมือได้ ตัวอย่างจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงความ “ควบคุมไม่ได้” ของภัยชนิดนี้ ส่งผลให้เราทำได้ดีที่สุดคือการ “ตั้งรับ” โดยเฉพาะสำหรับประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก (Ring of Fire)
ประการที่สอง คือความเชื่อมโยงกับภัยคุกคามอื่นๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่เชื่อมโยงกับหลายหลายมิติ ทั้งในแง่ของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบของมัน ยกตัวอย่างเช่น ในด้านการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดการผิดเพี้ยนทางธรรมชาติในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นหรือลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อลม ฝน และปัจจัยทางธรรมชาติอื่นๆ จนอาจก่อให้เกิดลมพายุที่มีความรุนแรง จะเห็นได้ว่า แม้ว่านิยามของภัยพิบัติทางธรรมชาติจะไม่ได้เกิดจากมือมนุษย์โดยตรง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเกิดจากมือมนุษย์ในทางอ้อม
ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ย่อมชัดเจนว่า สามารถมีผลกระทบต่อทั้งความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงในระดับระหว่างประเทศได้ทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นต้นตอของปัญหาความมั่นคงอื่นๆ ที่ตามมาอีกเป็นลูกโซ่ อาทิ การโยกย้ายถิ่นฐาน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ความมั่นคงทางการเมือง หรืออาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เป็นได้
ประการสุดท้าย คือการที่หลายประเทศทั่วโลก ยังไม่ได้ลงทุนกับการเตรียมตัว “ตั้งรับ” มากเท่าที่ควร เพราะด้วยเป็นการลงทุนที่มหาศาล อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่จับต้องได้ยาก โดยเฉพาะในการได้มาซึ่งความชอบธรรมด้านงบประมาณ ซึ่งบ่อยครั้งก็มักถูกกลบรัศมีด้วยเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ เพราะการพัฒนาเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเปรียบได้กับการ “ซื้อประกันสุขภาพ” ที่ไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไร นั่นเอง”
นี่คือบางส่วนบางตอนของเรื่องราวในวันนั้น ซึ่งแน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วในวันนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกกับทุกคนในวันนี้ คือวันนี้เราต้อง “ช่วยกัน” ครับ อย่างที่เรียนไปข้างต้นว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ “ควบคุมไม่ได้” และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีใครอยากให้เกิดอย่างแน่นอน
แน่นอนครับว่าเรายังมีจุดอ่อนหลายประการที่ต้องปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา ซึ่งจะต้องเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อย่างที่ผมได้เคยเรียนไปว่า เราควรต้อง “ลงทุน” กับการตั้งรับให้ได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากและใช้งบประมาณเยอะ...แต่ก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งวันนี้ ผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนรู้ดีแล้ว ว่าอะไรคือจุดบกพร่อง อะไรต้องรีบแก้ไขและปรับปรุง คงไม่ต้องบอกย้ำให้ฟังแล้วเหมือนซ้ำเติม
จึงอยากจะบอกทุกท่านว่า วันนี้เราต้องช่วยกัน จับมือกันให้แน่น เพื่อช่วยกันพัฒนาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงให้กำลังใจคนทำงาน นี่ไม่ใช่เวลาของการโทษกัน การ “ล่าแม่มด” หรือการ “สาดโคลนกันทางการเมือง” นี่คือเรื่องความมั่นคงและความสูญเสียของเพื่อนมนุษย์ ไม่ควรถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประเด็นทางการเมือง ความเชื่อ หรือศาสนา ด้วยประการทั้งปวง
ขอเถอะครับ กราบขอทุกท่านช่วยเป็นกระบอกเสียง และสื่อสารให้เพื่อนร่วมสังคมช่วยกันพยุงและอุ้มชูสังคมในเวลานี้ด้วยกันอย่างสร้างสรรค์นะครับ
ด้วยรักและห่วงใย
เอวัง