ในอดีตสมัยโบราณ เมืองไทยภาคกลางมีน้ำท่วมตามฤดูกาลเป็นเรื่องปกติ ส่วนตามพื้นที่ชนบทป่าเขาอาจมีภัยน้ำหลากรุนแรงเป็นบางครั้งเท่านั้น เนื่องจากมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ช่วยกักเก็บน้ำไว้ได้
ลักษณะของอุทกภัยนั้นมีสองแบบหลัก ๆ ได้แก่
1. น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากฝนที่ตกติดต่อกันหลายชั่วโมง จนผืนดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้ทัน น้ำฝนที่เทลงมาจึงไหลลงสู่พื้นราบอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักเกิดขึ้นในที่ราบสูง และไหลลงสู่พื้นที่ต่ำกว่า จนทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน และทรัพย์สินเสียหาย
2. น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง เพราะฝนที่ตกอย่างหนักทำให้พื้นที่ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำออกได้ อีกทั้งน้ำในแม่น้ำลำคลองยังมีปริมาณมากจนล้นตลิ่ง และอาจทะลักเข้าถึงบ้านเรือนได้
ในประเทศไทย เคยเกิดเหตุน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือ และภาคอีสาน ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครเอง ก็เคยประสบภัยน้ำท่วมมาแล้วเช่นกัน
ปัจจุบันภูมิศาสตร์ประเทศมิได้เปลี่ยน แต่การเติบโตของเมืองและเส้นทางคมนาคม การขยายตัวของแหล่งบ้านพักอาศัย การรุกล้ำ ที่ดินสาธารณะ โดยเฉพาะเส้นทางระบายน้ำตามธรรมชาติดั้งเดิม การบริหารจัดการขยะในเมือง การบริหารจัดการการระบายน้ำในเมือง ฯลฯ กลายเป็นปัญหาขัดขวางการระบายน้ำ ดังนั้น “เมือง” จึงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังรอระบายทุกครั้งเมื่อมีฝนตกหนัก
เช่นเดียวกัน ในชนบทก็จะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำหลากไหลเชี่ยวแรงจากพื้นที่สูง เข้าสู่ชุมชน ก่อความเสียหายเกือบทุกครั้งที่ฝนตกหนัก
แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนี้ แบ่งยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเป็น 5 ภารกิจ คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน โดยแผนดังกล่าวได้แบ่งช่วงเวลาในการปฏิบัติงานตามแผนเป็น 3 ช่วง ภายในระยะเวลา 10 ปี คือ 1.แผนระยะสั้น ตั้งแต่ปี 2558-2559 2.แผนระยะกลาง ปี 2560-2564 และ 3.แผนระยะยาว ปี 2565-2569
ยุทธศาสตร์จัดการน้ำท่วมและอุทกภัยนั้นเบื้องต้นจะเน้นการปรับปรุงลำน้ำสายหลัก ที่ตื้นเขินและทำให้เกิดน้ำไหลอย่างรุนแรง ระยะทาง กว่า 1,000 กิโลเมตร เช่น ที่ลุ่มน้ำยมและมูล การเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ผันน้ำ พื้นที่รับน้ำนอง ในลุ่มน้ำวิกฤต ซึ่งจะมีการศึกษาในพื้นที่และกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินลุ่มน้ำในจังหวัด จัดทำผังเมือง โดยเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ใน จ.นครสวรรค์ การจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม 185 แห่ง
ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ จำนวน 4.7 ล้านไร่ เพื่อลดความเร็วน้ำหลากในพื้นที่ต้นน้ำ และฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันการสูญเสียหน้าดิน 9 กว่าล้านไร่ เพื่อลดการกัดเซาะในพื้นที่ต้นน้ำ
แม้จะไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาแบบปัจจุบันทันด่วน หรืออัดงบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างหรือขุดบ่อน้ำบาดาลในระยะสั้น แต่ก็ถือเป็นแผนระยะยาวของประเทศ ในการพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างความมั่นคงทางน้ำ นับเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ หลังจากที่ไทยประสบวิกฤตอุทกภัยและภัยแล้ง
ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นแผนระยะสั้น ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นผลงานเด่นชัด พี่น้องภาคใต้ก็ยังเผชิญปัญหาน้ำหลากรุนแรง ท่านนายกรัฐมนตรีคงต้องเหนื่อย ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำอีกรอบ