เหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ของประเทศไทย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อประสิทธิภาพของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แม้ประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติระดับชาติที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและใช้งานอยู่ 3 ระบบหลัก ได้แก่
ระบบ SMS – เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา
แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT – พัฒนาโดย ปภ. เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภท พร้อมข้อมูลสถานการณ์และการพยากรณ์ฝน
Cell Broadcast Service (CBS) – อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยจะสามารถส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ พบว่า แม้โทรศัพท์มือถือจะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่กลับใช้งานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าสัญญาณมือถือของบางเครือข่ายล่มในช่วงเวลาเกิดเหตุ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ การเตรียมความพร้อมของระบบการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งระบบไฟฟ้าที่อาจได้รับผลกระทบ จึงควรมีแผนสำรองในกรณีที่ระบบหลักไม่สามารถใช้งานได้
ผู้เขียนจึงหวนคิดถึงคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ซึ่งเคยกล่าวไว้ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่าด้วยการจัดการน้ำท่วม เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 ที่กระทรวงมหาดไทย โดยระบุว่า
“การให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบล่มไปทั้งหมด การแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งปัญหานี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นต้องเตรียมแผนสำรองไว้ และฝากให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด”
แม้ในขณะนั้นผู้คนจำนวนมากจะมองว่าแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูล้าสมัย แต่จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ และเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้แนวคิดการใช้ “วิทยุทรานซิสเตอร์” กลับมาได้รับการพิจารณาอีกครั้งในฐานะหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารยามวิกฤตที่อาจยังจำเป็นในยุคดิจิทัล