ทวี สุรฤทธิกุล

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯแพทองธารจบลงไปแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจจะวางใจได้ เพราะอาจจะมีเรื่องที่ “ไม่น่าไว้ใจ” เกิดขึ้นได้อีก

หลายท่านอาจจะไม่ได้ติดตามการอภิปรายนี้โดยตลอด หรืออาจจะแค่ติดตามดูไฮไลท์และสรุปข่าวจากสื่อต่าง ๆ สำหรับคนที่เข้าใจการเมืองไทยก็อาจจะ “ทนได้” กับความไร้สาระและการเล่นเกมการเมืองแบบนี้ แต่สำหรับคนที่เบื่อการเมืองไทยอยู่แล้วก็อาจจะ “ถ่มถุย” ยิ่งเกลียดการเมืองไทยแบบนี้มากขึ้นไปอีก

ขออนุญาตนำเสนอความรู้แบบนักวิชาการ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สร้างขึ้นในประเทศที่เขามีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “แข่งขัน” ที่มีประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบ โดยมีอายุของกิจกรรมแบบนี้มาหลายร้อยปี จนเรียกว่าได้กลายเป็น “ประเพณีทางการเมือง” อย่างหนึ่งไปแล้ว

ระบอบประชาธิปไตยอังกฤษเกิดจากการต่อต้านระบอบศักดินา โดยระบอบศักดินาของอังกฤษเป็นการ “ร่วมกันหากิน” ของกษัตริย์กับขุนนาง ที่กษัตริย์ให้ “อภิสิทธิ์” แก่ขุนนางที่จะครอบครองที่ดินและเก็บกินผลประโยชน์จากที่ดินนั้น แล้วนำผลประโยชน์นั้นมาแบ่งปันให้กับกษัตริย์ด้วย โดยที่ประชาชนทั่วไปจะมีฐานะเป็น “ทาสที่ดิน” หรือแรงงานที่ต้องเช่าหรือทำงานในที่ดินของขุนนางเหล่านั้น แลกกับการมีที่อยู่ที่กินในท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงการที่จะได้รับการคุ้มครองให้ความปลอดภัยจากขุนนางที่เป็นเจ้าของที่ดินนั้นด้วย

ต่อมาเมื่อสงครามครูเสดจบลง (ใครที่อยากเข้าใจระบอบศักดินาอังกฤษในช่วงนี้ ให้ดูหนังฮอลลีวูดเรื่อง “โรบินฮู๊ด” ในภาคที่เควิน คอสเนอร์ เป็นพระเอกก็ได้ หรือที่สร้างต่อมาก็คือภาคที่รัสเซลล์ โครว์ เป็นพระเอก ก็จะยิ่งเน้นให้เห็นความโหดร้ายของระบอบศักดินาอังกฤษในยุคโบราณ เมื่อ 800 กว่าปีนั้น) พวกอัศวินที่ไปสู้รบที่เยรูซาเล็มก็กลับประเทศ หลายคนอย่างโรบินฮู๊ดก็มาพบว่าปราสาทและสิทธิในที่ดินของตนถูกยึด เกิดการต่อสู้กับขุนนางที่มาโกงเอาไป แต่สู้อำนาจเถื่อนนี้ไม่ได้ก็หนีเข้าไปเป็น “โรบินฮู๊ด” ดังกล่าว

อัศวินเหล่านี้จึงต้องหันไปหาแนวร่วมกับประชาชน เช่น โรบินฮู๊ดก็ไปช่วยปล้นขุนนาง พระรวย ๆ เอาเงินมาช่วยชาวบ้าน ในขณะเดียวกันอังกฤษก็ต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส กษัตริย์ต้องหันมาง้อขุนนางรวมถึงอดีตขุนนางหรืออัศวินที่ถูกย่ำยีเหล่านั้น กอร์ปกับที่ชาวบ้านก็ถูกกษัตริย์ย่ำยีโดยผ่านขุนนางในท้องถิ่น ที่สุดก็เกิดข้อเรียกร้องที่จะใช้โอกาสที่กษัตริย์มาขอแรงไปช่วยนั้น “เอาคืน” โดยการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ โดยอัศวินและประชาชนในฝ่ายนี้ ขอให้กษัตริย์ลงนามในสัญญา เรียกสัญญานั้นว่า “แมกน่าการ์ตา” อันเป็นต้นกำเนิดของระบอบรัฐสภาอังกฤษ เพราะสัญญานี้หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “กฎบัตร” ได้จำกัดการใช้อำนาจของกษัตริย์ และเพิ่มอำนาจให้ตัวแทนของประชาชน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1215 หรือ 810 ที่แล้ว

ดังนั้นรัฐสภาของอังกฤษจึงเกิดขึ้นด้วยระบบ “การพิสูจน์ความจริง” ที่เป็น “ขนบ” หรือประเพณีความเชื่อที่ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่อัศวิน (เรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือเรื่อง “ฝรั่งศักดินา” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและปราชญ์ในหลาย ๆ ด้าน) คือการพิสูจน์ในข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้นำ ที่รวมถึงการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีต่าง ๆ นั้นด้วย จึงเป็นที่มาของการพิสูจน์ตัวเองของผู้นำอังกฤษและคณะ ตั้งแต่ที่ขึ้นรับตำแหน่งก็ต้อมีการเสนอนโยบายให้สภารับรอง หรือ “ไว้วางใจ” และเมื่อทำงานไประยะหนึ่งก็ต้องถูกเสนอให้มีการตรวจสอบ อันเป็นที่มาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้

“ระบบการพิสูจน์ความจริง” เป็นการแข่งขันอย่างหนึ่งที่เกิดจากวัฒนธรรมของพวกอัศวิน เมื่อมาใช้ในระบบรัฐสภาก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ในยุคแรก ๆ ก็คงจะทำกันอย่างแข็งขัน แต่ต่อมาในยุคหลัง ๆ โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ ลัทธิการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นน่าจะอ่อนตัวลง เพราะนักการเมืองต้องมีการประสานประโยชน์กันมากขึ้น ว่ากันว่าในระบบรัฐสภาของอังกฤษในทุกวันนี้ ผู้คนก็ไม่ได้สนใจในเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้เหมือนในอดีต

ประเทศไทยรับเอา(ที่จริงคือ “ลอก”)ระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษมาใช้ จึงได้นำวิธีการแบบทีเขาทำในสภาอังกฤษมาใช้ด้วย แต่ก็ใช้แบบมั่ว ๆ จะมีเอาจริงเอาจังก็ตอนที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่รัฐบาลในปี 2518 ต้องแถลงนโยบายต่อสภาแล้วไม่ผ่าน ต้องมาผสมพันธุ์กันใหม่ จนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ก็ลดทอนลงให้ต้องแถลงนโยบายแต่ไม่มีผลในการโหวตไม่รับรอง รวมถึงสร้างเงื่อนไขในการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ยุ่งยาก เพื่อไม่ให้ไปกลั่นแกล้งรังแกรัฐบาล หรือสร้างเกมการเมืองโดยฝ่ายค้าน จนถึงการปฏิรูปการเมืองโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ยังเอาลัทธิพิสูจน์ความจริงโดยการแข่งขันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านนี้มาใช้แบบเป็น “เครื่องประดับ” เพียงแต่พ่วงหน้าที่ให้กับองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่จะต้องมารับช่วงต่อในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ที่จะ “เอาผิด” หรือเอาตัวรัฐบาลที่ถูกอภิปรายนั้นไปลงโทษต่อไป

น่าเสียใจที่องค์กรอิสระเหล่านั้นได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในส่วนผู้มาเป็นรัฐบาลกับที่อยู่นอกสภา หรือ “ผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ” ทำให้ระบบการตรวจสอบแบบนี้ล้มเหลว แน่นอนการที่ยังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่แบบนี้ ก็ได้กลายเป็นการย้อนยุคทางวัฒนธรรม คือได้กลายเป็นแค่ “ประเพณีทางการเมือง” ที่กระทำสืบทอดกันมาตามแบบอย่างที่คนโบราณ(ระบบการเมืองเก่า)เขาทำกันมาเท่านั้น

รัฐสภาอังกฤษมีวัฒนธรรมการเมืองที่น่าชื่นชมอย่าหนึ่ง คือ “น้ำใจนักกีฬา” ก็ด้วยพวกอัศวินต่าง ๆ ที่มาเป็นสมาชิกของรัฐสภาในยุคแรกได้สร้างการแข่งขันในรัฐสภาให้มีระบบของการแข่งขันที่ดี เริ่มต้น ต้องมีการยอมรับในกติกาต่าง ๆ ร่วมกัน ต่อมาก็ต้องแข่งขันหรือต่อสู้กันภายใต้กฎและกติกาเหล่านั้นด้วยดี เมื่อแพ้ก็ต้องยอมรับ เมื่อชนะก็ไม่ทับถมคู่ต่อสู่ จึงเรียกว่า “มีน้ำใจนักกีฬา” (แต่ปัจจุบันนี้จะเป็นแบบนั้นหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ เพราะบางทีเราก็เห็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษทะเลาะกันวุ่นวาย จนถึงขั้นชกต่อยหรือโยนข้าวของใส่กันก็มี) สุดท้ายคือให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธกันให้บาดหมางไปตลอด และพร้อมจะปรับตัวหรือยอมรับผลของการกระทำด้วยดี เช่น บางที่ฝ่ายค้านยังไม่โหวตให้ออก แต่พอนายกรัฐมนตรีฟังแล้ว “ก็อายใจ” ลาออกไปเอง

การอภิปรายของรัฐสภาไทยไม่น่าจะเป็นไปแบบนั้น และบรรดา ส.ส.ทั้งหลายก็คงไม่มีใครทราบที่ไปที่มาเท่าไหร่ บทความนี้จึงอยากจะนำเสนอต่อไปในสัปดาห์หน้าด้วยอีกว่า การอภิปรายที่ผ่านมานี้ “ไม่น่าไว้ใจ” จริง ๆ

อยากให้คอยดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อจากนี้ ก็เป็นด้วย “ความไม่น่าไว้ใจของท่านผู้ทรงเกียรติทุก ๆ ท่านนี้เอง