เพิ่งดูภาพยนตร์เรื่อง Revelations หรือชื่อไทย “นิมิตสวรรค์” ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ศิษยาภิบาลและสายสืบ ที่โคจรมาพบกันในคดีคนหาย ที่ท้าทายความเชื่อเรื่องของ “นิมิต” โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ยังพูดถึงประเด็นความรุนแรงในครอบครัวที่ได้รับในวัยเยาว์ ซึ่งส่งผลให้เหยื่อกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมความรุนแรงต่อผู้อื่น
บ้านเรามีก็เคยมีผู่ก่อเหตุอาชญากรรมที่ให้เหตุผลในการก่อเหตุโดยอ้างถึงปมในวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรไม่ควรมีใครต้องถูกล่วงละเมิดหรือกระทำความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด
กระนั้น มีความเคลื่อนไหวในด้านกฎหมาย ที่จะเข้ามาช่วยเป็นกลไกในการป้องปราม คณะรัฐมนตรี
มีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสำคัญหลักๆในการแก้ไขเพิ่มเติมบางบทนิยามให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
อาทิ บทนิยามคำว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ให้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศ และการกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ รวมถึงความเสียหายต่อชื่อเสียง บทนิยามคำว่า “บุคคลในครอบครัว” ให้มีความหมายครอบคลุมไปถึงคู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินด้วยกันหรือเคยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้ที่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ฉันคู่สมรส ตลอดจนคู่รักที่แสดงออกต่อบุคคลทั่วไปหรือที่มีความผูกพันลึกซึ้งทางจิตใจต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่เกิดจากการรับไว้อุปการะเลี้ยงดูอย่างบุตร หรือเป็นบุคคลที่มีความผูกพันกันลึกซึ้งทางจิตใจต่อกัน แม้ไม่มีความเกี่ยวพันกันทางเครือญาติบทนิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” ให้รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นด้วย เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้อย่างทันท่วงที
ที่สำคัญญคือเพิ่มอัตราโทษปรับในความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว จากเดิมปรับไม่เกิน 6,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 60,000 บาท และให้ศาลลงโทษหนักขึ้น หากผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวมีการกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี หรือการกระทำความรุนแรงในครอบครัวต่อเด็กในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือจะมีการกระทำผิดซ้ำสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุขยายระยะเวลาร้องทุกข์จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน
กำหนดเหตุลดโทษ หากปรากฏข้อเท็จจริงทางการแพทย์ว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำไปเพราะตนเองหรือบุคคลในครอบครัวของตนถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือถูกกระทำโดยมิชอบซ้ำกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง (Batterd Person Syndrome)
กระนั้น เราเห็นว่า ต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดอาศัยช่องโหว่ และต้องพิสูจน์ทราบให้แน่ชัดในเหตุบรรเทาโทษ