รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบและแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อเร็วๆนี้ ได้จุดประเด็นร้อนแรงในสังคมไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการปราบปรามและจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง สร้างความสับสนในข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจน และสะท้อนภาพของการปราบปรามที่อาจไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่หลายของสินค้าชนิดนี้ได้ตราบใดที่ยังมีความต้องการบริโภค
ปรากฏการณ์ "ยิ่งปราบ ยิ่งเจอ" เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่สินค้าเหล่านี้ยังคงแพร่หลายในตลาดมืด ประกอบกับการตั้งคำถามของสังคมถึงการใช้งบประมาณ ทรัพยากรของรัฐ เพื่อจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเช่นการออกข่าวกับบุหรี่ไฟฟ้าชิ้นเดียว สะท้อนถึงความจำเป็นในการทบทวนนโยบาย และพิจารณาแนวทางใหม่ในการควบคุม
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้นำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบการควบคุมอย่างถูกกฎหมาย ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการจัดการกับสินค้าชนิดนี้ การปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในตลาดมืดไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า แต่ยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากการเก็บภาษี การห้ามแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเคยได้ผลจริงในสังคมไทยหรือไม่เชื่อว่าผู้กำหนดนโยบายคงทราบดี เพราะปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้พบได้ในสินค้าและบริการอื่น ๆ หลายประเภทที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือของต้องห้าม สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคและคนในสังคมที่ยังคงมองหาสินค้าและบริการเหล่านั้น
นโยบายการนำสินค้าใต้ดินขึ้นมาบนดิน ไม่ว่าจะเป็นหวยใต้ดิน การพนัน ขึ้นมาควบคุมล้วนมาจากพื้นฐานความคิดที่ว่าการควบคุมด้วยกฎกติกาที่เหมาะสมจะสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีกว่าการห้ามแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่กลับสร้างปัญหาเศรษฐกิจใต้ดิน
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยควรพิจารณานำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบการควบคุมอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการจัดการกับธุรกิจใต้ดินอื่น ๆ ตามนโยบายการนำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดินที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายจะช่วยให้รัฐสามารถกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ควบคุมการเข้าถึงของเยาวชน และสร้างรายได้จากการเก็บภาษี
อย่างไรก็ตาม การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสร้างสมดุลระหว่างมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
การเปิดกว้างสำหรับการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่เสนอทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้ว
หลังจากนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการตัดสินใจในทางเลือกเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยและเป็นนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงทุกฝ่าย ทั้งผู้ไม่สูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และการคุ้มครองเด็กและเยาวชนลูกหลานของเรา