ในสังคมยุคปัจจุบันที่คนให้ความสำคัญกับโลกโซเชียลมากขึ้น หรือในบางคนนั้นแทบจะตลอดเวลา ตื่นมาก็ไถฟีดก่อนระหว่างวันไม่ว่าจะทำกิจวัตรอะไรก็ไถฟีดจนกระทั่งก่อนนอน ซึ่งทำให้เรารับรู้เรื่องราวของผู้คนต่างๆ แม้บางเรื่องจะไม่ได้อยากรับรู้ก็ตาม
การติดตามผู้คนในโลกโซเชียลอาจนำไปสู่ อาจหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตนเองกับชีวิตของผู้คนในโลกโซเชียลไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจุบันมีผู้ที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตหรูหรา ฟุ่มเฟือย ซึ่งมีผู้ที่ติดตามเสพเนื้อหาประเภทนี้ บางกลุ่มอาจมีภูมิคุ้มกันจิตใจแตกต่างกัน
เราจึงได้เห็นการแสดงออกผ่านการแสดงความคิดเห็นที่มีทั้งลบและบวก ขณะที่มีบางกลุ่มไม่ได้แสดงออกแต่เข้ามากระทบกับจิตใจ และเกิดการเปรียบเทียบกับผู้คนในโลกโซเชียลจนเกิดภาวะทั้งบวกและลบเช่นกัน
โดยทางหนึ่งอาจเป็นแรงผลักดันให้เพียรพยายามสร้างฐานะเพื่อทัดเทียมหรือสะดวกสบายมากขึ้น ทางหนึ่งอาจแสวงหาหนทางลัดที่อาจดำดิ่งไปสู่เส้นทางที่ผิดกฎหมายหรือทำร้ายตนเอง กระทั่งอีกทางหนึ่งที่เกิดความเครียด หรือซึมเศร้าก็มี
ไม่เฉพาะเรื่องชีวิตที่หรูหรา แม้กระทั่งการประกาศความสำเร็จของคนกลุ่มหนึ่ง บางครั้งก็กระทบใจคนอีกกลุ่มได้ด้วยเช่นกัน จึงต้องมาสำรวจตรวจใจตนเอง ว่าเมื่อเราเสพข้อมูลในโลกโซเชียลแล้วเราสามารดยินดีกับความสุข ความสำเร็จของผู้อื่นได้หรือไม่
ดังจะยกคำกลอนของ พระธรรมโกศาสจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) สอนใจให้มีความสุขสงบได้ในโลกโซเชียลดังนี้
เขาอยากดี เท่าไร ให้เขาเถิด
ไม่ต้องเกิด แข่งดี มีแต่เสีย
ริษยา คือทุรกรรม ทำให้เพลีย
ทั้งลูกเมีย พลอยลำบาก มันมากความ.
เขาอยากเด่น เท่าไร ให้เขาเถิด
จะไม่เกิด กรรมกะลี ที่ซ่ำสาม
มุทิตา สาธุกรรม ทำให้งาม
สมานความ รักใคร่ เป็นไมตรี
เขาอยากดัง เท่าไร ให้เขาเถิด
ช่วยชูเชิด ให้ประจักษ์ ด้วยศักดิ์ศรี
ให้ดังก้อง ท้องฟ้า อย่างอสนี
ต่างฝ่ายมี ผลงาม ตามเรื่องตน ฯ
(พุทธทาสภิกขุ. หัวข้อธรรมในคำกลอน และบทประพันธ์ของ สิริวยาส. ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส. สวนอุศมมูลนิธิ: กรุงเทพฯ. 2529. หน้า 129)