สถาพร ศรีสัจจัง
“…ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ/จะมิดหรือ…อพิถัง/ความคิดอย่างสังคัง/มันน่าโห่…เอ้า หุยฮา/ตัวไทแต่ใจทาส/เข้าเทียมแอกอนาถอา/ซื้อได้ด้วยราคา/ฉะนี้หรือที่เรียกคน…”
หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการประเภท “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” เสียชีวิตลงในช่วงปีพ.ศ. 2506 นั้น สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ซึ่งยังมีบทบาทสูงมากในยุคนั้น ต่างพากันขุดคุ้ยเปิดโปง นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางและมหาศาล การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และความมักมากทางกามารมณ์แบบผิดจริยธรรม (มีอนุภรรยาเป็นจำนวนมากใช้บ้านพักในค่ายทหารเป็น “ฮาเร็ม” รวมถึงการสั่งการให้ทหารไทยที่เป็นลูกน้อง รับใช้ “เมียน้อย” เหล่านี้อย่างน่ารังเกียจ) เป็นต้น อย่างกว้างขวาง
ขณะที่ประชาชนผู้รับสารต่างตื่นตัวรับรู้ถึงข้อมูลเหล่านี้ การณ์กลับเป็นว่า มีหนังสือพิมพ์บางฉบับ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคือผู้ทำตัวเป็นสื่อที่ “รับใช้” จอมพลเผด็จการคนนี้มาโดยตลอด ยังคงทำตัวเป็นปากเสียงปกป้อง แก้ตัวให้ และโจมตีด่าว่าผู้เปิดโปงข้อมูลดังกล่าวเป็นรายวัน
ฟังว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเป็นอดีตเพื่อนคนหนึ่งของ “กวีการเมือง” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” จนท่านน่าจะเหลืออดเหลือทน และเหมือนกับต้องการตักเตือนและประจานความไร้ “อาชีวปฏิญาณ” ของสื่อดังกล่าว จึงได้เขียนกวีนิพนธ์เรื่อง “คำเตือน…จากเพื่อนเก่า” อันกลายเป็นบทกวีที่ฮือฮากันมากในช่วงยามนั้น และกลายเป็นบทกวีสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในภายหลัง
จุุดเด่นที่สำคัญยิ่งของของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ก็คือ “กวีการเมือง” ได้นำเสนอเนื้อหาผ่านรูปแบบฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยที่เรียกว่า “กาพย์ยานี 11” ได้อย่างเข้มข้นคมคาย ทั้งได้ปรับเรื่อง “เสียงและคำ” ในการเขียนให้พัฒนาขึ้นจากการเขียนกาพย์ยานี 11 แบบเดิมอย่างเห็นได้ชัด จนมีผู้วิเคราะห์ภายหลังว่า รูปแบบการเขียนอย่างนี้มีอิทธิพลส่งผลต่อกวีรุ่นหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” อย่างกว้างขวาง
“ตัวคนบ่เป็นคน/ให้เขาสนเชือกตะพาย/ตัวคนแต่ใจควาย/ได้กินหญ้าละลืมฟาง/ชีวิตที่เคยยาก/ลำบากร้อนแต่ก่อนปาง/ลืมสิ้นบ่เหลือยาง/เสวยบุญจนหน้าบาน/เจ้าลืมประชาชน/ที่ยากจนระอาอาน/ตรากตรำระกำงาน/เป็นเงินข้าวให้เจ้ากิน…” หรือ “…เจ้าซื่อต่อคนคด/แต่ทรยศต่อคนไทย/เพียงแบงค์ไม่กี่ใบ/ก็ขายชาติเป็นทรชน…” หรือ “…มวลชนย่อมเป็นคน/มิใช่ควายที่โง่งม/ทองแท้หรืออาจม/เขาย่อมรู้กระจ่างใจ…” หรือ “…ใครชั่วสถุลถ่อย/จะถูกถุยทั้งเมืองไทย/รัศมีที่เรืองไกร/จะสิ้นแววที่เคยวาม…อนึ่งเพื่อนหนังสือพิมพ์/อีกหลายคนที่เอออวย/ขายแรงเพราะเงินรวย/จะพลอยชั่วเสียชาติคน/อย่าขายเลยวิญญาณ/ยอมซมซานกับความจน/ปลีกตัวจากพาลชน/มายืนหยัดให้ลือใจ…” แล้ว “กวีการเมือง” ก็จบท่อนท้ายของเรื่องด้วยการสรุปว่า “…ทิ้งควายเขาระฟ้า/อาชญากรที่บ้ากาม/ปล่อยให้มันตายตาม/ยถากรรมแต่ลำพัง/…”
มีข้อที่น่าสังเกตที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือ ในงานกวีนิพนธ์ของ “กวีการเมือง” แทบจะทั้งหมด นอกจากจะมีเนื้อหา “เปิดโปงที่เลวทราม/และเทิดทูนพิทักษ์ธรรม” แล้ว เนื้อหาหนึ่งที่จะแทรกอยู่ตลอดก็คือการยืนยันถึง “คุณค่า” และความเชื่อมั่นในความเป็น “คน” ของผู้เขียน
กวีนิพนธ์ขนาดยาวทั้ง 5 เรื่องของ “กวีการเมือง” ในหนังสือ “รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปะวรรณคดี” ของ กวีการเมือง เล่มนี้ ก็เช่นกัน ทุกเรื่องจะมีการแทรกประเด็นดังกล่าวไว้ให้เห็นอย่างกว้างขวางเสมอ เช่น
(โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพฯ) “…แต่คนย่อมเป็นคน/ถึงยากจนก็รวยใจ/รวยแรงที่แกร่งไกร/จะต่อสู้ศัตรูคน/กูไทยต้องเป็นไท/จะเป็นทาสบ่ยอมทน/ “ชื่อไทยที่เรียกตน/จะเย้ยตัวจนยามจนตาย/ถึงแพ้สักสิบแพ้/บ่ท้อแท้จะท้าทาย/สู้ใหม่อย่างไว้ลาย/ให้โลกลือกูคือไท…” หรือ “(โคลงห้าพัฒนา)” คนนั้นค่า คือคน/เกียรติดำกล เกริกหล้า/ใครอย่ายล หยามเหยียด/ฤทธิ์ล้นฟ้า จักคะมำ… หรือ “…ผีดิบเมื่อยามดึก/จะดูดเลือดมานานพอ/แสงทองจะสาดทอ/มาขับผีให้ลี้หาย/แสงทองที่ทาบฟ้า/บ่มีมาโดยง่ายดาย/มือคนจะมั่นหมาย/ชะลอฟ้าลงมาดิน/คนเองจะสร้างศรี/อโณทัยอันรื่นริน/ชุบชื่นทุกชีวิน/ณ แดนทองที่ขื่อไทย!” หรือ(วิญญาณสยาม) “…แล้วคนจะเป็นคน/และใจคนจะเลื่องลือ/นามไทยจักระบือ/ว่าคนจริงทั้งหญิงชาย…” หรือ(โคลง 4 สุภาพ) “…ความหวังยังไป่สิ้น สูญสลาย/ตราบเท่าแสงสูรย์พราย พร่างฟ้า/คนจักยืนหยัดหมาย มือมั่น เสมอฮา/จักเสกความหวังจ้า แจ่มให้เป็นจริง” ฯลฯ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป กวีนิพนธ์ของ “กวีการเมือง” นับเป็นต้นแบบของบทกวีที่มีเนื้อหาอิงแอบแนบชิดอย่างสำคัญยิ่งอยู่กับเรื่อง (content) ของการปกป้องความถูกต้องชอบธรรมทางสังคม/สิทธิเสรีภาพของประชาชน/การเปิดโปงความชั่วร้ายด้านต่างๆของสังคม/และที่สำคัญที่สุดก็คือการยืนหยัดยืนยันถึงคุณค่าของความเป็น “คน” !
ความเป็น “ต้นแบบ” ที่สำคัญยิ่งอันจะละเลยไม่ได้เลยอีกประการหนึ่งก็คือ “กวีการเมือง” ได้สำแดงให้เห็นว่า “เส้นทางกวีไทย” นั้นควรเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือต้องยึดหลัก “เลือกแก่นทิ้งกาก” กล่าว คือต้องลุ่มลึกศึกษาแบบแผนของกวีรุ่นเก่า(ที่เป็นมรดกและราก)เพื่อนำมาพัฒนาปรับใช้ให้สอดคล้องกับ “ยุคสมัย” (พื้นที่และเวลา) ตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องนี้ในงานชุดนี้ของท่านก็คือ การนำรูปแบบของ “โคลงห้าโบราณ” มาพัฒนาใช้ใหม่ และ การปรับลีลาจังหวะท่วงทำนองของกาพย์ยานี 11 ขึ้นใหม่(สืบจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรฯ และ “นายผี”) โดยการใช้คำทั่วๆไปที่ชาวบ้านใช้กัน และปรับจังหวะให้กระขับขึ้นด้วยการ “สัมผัสอักษร” นี่คือ คุณูปการที่สำคัญยิ่งที่ใครไม่สามารถบิดเบือนได้!!