จากกระแสสังคมให้ความสนใจกรณีดาราสาวที่เคยมีชีวิตหรูหรา แต่ประสบปัญหาทางการเงินใช้จ่ายเกินตัวและการลงทุนธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จทำให้มีหนี้สินหลายล้าน จนต้องยืมของมีค่าของเพื่อนนักธุรกิจแต่กลับเอาไปจำนำและขายต่อ ทำให้เกิดข้อพิพาทกันนั้น

ทั้งนี้ การอวดรวยคือการใช้ชีวิตอย่างฟุ่งเฟือย การพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่เกินความเป็นจริงและเกินฐานะ การใช้จ่ายเงินเกินตัวที่เกินความจำเป็น นำไปสู่การเป็นหนี้สิน การขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี และขาดความสามารถการจัดการทรัพย์สินอย่างมีเหตุผล ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จึงไม่ใช่เรื่องเปลกที่นักแสดงและพิธีกรชื่อดังอย่าง กิตติ เชี่ยววงศ์กุล หรือ เกลือ เป็นต่อ จะได้แสดงความคิดเห็นให้ข้อคิดกับสังคม ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ทีนี้เด็ก ๆ เห็นความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันรึยังลูก”

เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

 ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลก

ขณะที่ย้อนกลับไปในอดีต บรมครู สุนทรภู่ กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์องค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรมก็เคยแต่งสุภาษิตไว้เกี่ยวกับการใช้จ่ายที่เป็นคำสอนที่เหนือกาลเวลาว่า

“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท

อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์

มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง

อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ

ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน…”

จาก สุภาษิตสอนหญิง