เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ขอขอบคุณ คุณ “ทอม เครือโสภณ” ที่โพสต์ในยูทูบเรื่อง “บทเรียนชีวิต” ช่วยเตือนสติผู้คนให้รู้ว่า “ตายนั้นง่าย อยู่นั้นยาก” เขาได้พบว่าตนเองมีสุขภาพไม่ดีมากเพราะไม่ได้ใส่ใจในการดูแล “ชีวิต”

เมื่อทราบผลการตรวจสุขภาพ เขาบอกว่า เขาไม่กลัวตาย แต่กลัวอยู่ เพราะการตายนั้นง่าย แค่ทำตัวเองก็ได้ หรือมีเหตุให้ตายทันทีก็ไม่มีปัญหา แต่การอยู่นั้นยาก อาจมาจากความเจ็บป่วยที่รุนแรงเรื้อรัง เป็นโรคที่นอนติดเตียง อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นทุกข์ทรมานตนเองและคนอื่น

เขาสารภาพพร้อมรายละเอียดว่า สาเหตุที่ป่วยเพราะ “ไม่รู้จักพอ” ในการใช้ชีวิต การทำงาน การกินการอยู่ และสรุปว่า “รวยให้ตาย สุขภาพไม่ดี คือจน”

คุณทอมมีกัลยาณมิตรและแฟนคลับมากมายที่ส่งกำลังใจไปให้ เขาบอกว่าเป็นพลังใจที่สำคัญยิ่ง เขาขอคำแนะนำดีๆ จากทุกคน เพื่อกลับไปมีสุขภาพดีและมีความสุข

คุณทอมก็เหมือนคนจำนวนมาก ที่ “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” สนุกกับงาน สนุกกับกิเลสโดยเมินเฉยต่อผลร้ายในชีวิตและสุขภาพที่ค่อยๆ สะสมตามมา พอรู้ตัวก็สายมากแล้ว บางคนโชคดีที่กลับไปตั้งหลักใหม่ได้ ฟื้นฟูดูแลสุขภาพของตนเองได้ หลายคนสายเกินไป

ความจริง คนเรามีหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่ดีมากมาย แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ “ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้” นอกจากคำสอนทางศาสนา อยากให้ทบทวนเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เรามองข้าม ไม่อยากฟัง และมักเข้าใจผิดว่า เป็นหลักการที่สอนให้อยู่อย่างลำบากยากจน

ความหมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำอย่างไรให้ “พึ่งตนเองและมีความสุข” (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน)

“พึ่งตนเอง” คือ ไม่ทำให้คนอื่นลำบากจนเกินไป ช่วยตนเองให้ได้มากที่สุดทางเศรษฐกิจและสังคม “มีความสุข” คือ กินพอดีอยู่พอดี ก็จะมีความสุข พอดี คือ ทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา หนทางแห่งความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งกายและใจ จากปัญหาหนี้สิน จากโรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ

ไม่ต้องให้ใครมากำหนดว่า “พอดี” อยู่ตรงไหน เราแต่ละคนต้องกำหนดเอง โดยไม่หลอกตัวเอง ต้องรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น “มาจากภายใน” มาจากใจของเราเอง มาจากความรู้ (มีเหตุผล) ความใส่ใจในการดูแลตนเอง

วิธีการเพื่อให้เกิด “ความพอดี” มีหลายวิธี เคยสอนนักศึกษา “มหาวิทยาลัยชีวิต” คือ ให้จัดการตนเอง 4 อย่างให้ดี คือ จัดการชีวิต (มีเป้าหมายและจัดการเวลา ความสำคัญก่อนหลัง) จัดการอาชีพ จัดการการเงิน จัดการสุขภาพ ได้ยกข้อเขียนของ ดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร จากหนังสือ “มองชีวิตผ่านมะเร็ง” ว่า           

“ผมเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ทำอะไรได้ดีในชีวิต แต่ไม่ฉลาด หลายคนอาจมองว่า คนเรียนจบดอกเตอร์ต้องมีสติปัญญาล้ำเลิศ แต่ผมมีความล้ำเลิศในเรื่องอื่นๆ ผมได้ปริญญาเอกทางวิชาการก็จริง แต่ผมไม่ได้ปริญญาชีวิต นึกย้อนกลับไป มีคำสอนหนึ่งที่พ่อสอนผมมาตั้งแต่เด็ก คือ "คนเราต้องได้ทั้งปริญญาวิชาการและปริญญาชีวิตด้วย"  เราต้องเจนจบกับชีวิต นี่คือเรื่องสำคัญ แต่ผมรู้ไม่เท่าทันชีวิต ถึงลงเอยด้วยการเจ็บป่วยครั้งใหญ่นี้”

ความพอดีของชีวิตมาจากการจัดการเวลาให้ “พอดี” ไม่ทำงานจนลืมกินลืมนอน เพื่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพื่อรายได้เงินทอง อยากมีบ้านหลังใหญ่ รถยนต์คันโต มีหน้ามีตา

พระไพศาล วิสาโล เขียนไว้ในคำนำหนังสือ “จะเลือกเงินหรือชีวิต” (Your Money Your Life : เงินหรือชีวิต นี่คือหนังสือที่แสนวิเศษมันจะช่วยเปลี่ยนชีวิตของคุณอย่างแท้จริง ผู้เขียน วิกกี โรบิน) ว่า “เงินได้ถูกสถาปนาให้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของสรรพสิ่ง ตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ไปจนถึงประเทศ....”

“ในระดับบุคคล เงินได้กลายเป็นเครื่องวัดคุณค่าชีวิตไปแล้ว คนรวยจึงมีคุณค่ามากกว่าคนจน ใครที่มีเงินเดือนน้อยก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าด้อยกว่าเศรษฐี เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินจึงกลายเป็นจุดหมายของชีวิตไปในที่สุด ผลคือ ชีวิตเราถูกเงินครอบงำและผลักดันในแทบทุกด้าน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในนามความเจริญ ก้าวหน้าของชีวิตและการพัฒนาประเทศ”

“หนังสือเล่มนี้ชวนให้เรามาตั้งคำถามกับอิทธิพลของเงินในชีวิตของเรา คำถามพื้นฐานคือ เงินทำให้เรามีความสุขจริงหรือ การตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน ช่วยให้เราสมหวังกับชีวิตเพียงใด และสิ่งที่เราสูญเสียไปกับการทำมาหาเงินนั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้มาหรือไม่ ผู้เขียนได้พาเราบวกลบคูณหารด้วยตัวเองเพื่อให้ได้รู้ว่า สิ่งที่เราได้นั้นน้อยกว่าที่คิด และสิ่งที่เราเสียไปนั้นมากเกินกว่าที่นึกเสียอีก  ที่สำคัญ สิ่งที่เสียไปนั้นเอากลับคืนมาไม่ได้ แม้จะมีเงินมากมายเพียงใด”

ทำงานจนป่วย ซื้อสุขภาพคืนไม่ได้ ทำงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว ลูกติดยา ซื้อคืนมาได้ไหม ถ้า “บ้านแตก” ผสานให้คืนมาได้หรือ เหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ที่มาจากการไม่จัดความสำคัญก่อนหลังของเวลา หน้าที่การงาน  ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม

การจัดการสุขภาพแบบ “พึ่งตนเอง” วันนี้สำคัญนัก ต้องท่องว่า “หมอไม่ใช่เทวดา ยาไม่ใช่ของวิเศษ” ต้องรู้จัก “พึ่งตนเอง” หาข้อมูล (มีเหตุผล) มีวิจารณญาณในการแยกแยะว่าอะไรดี ไม่ดี ที่เห็นในโซเชียลมีเดีย หรือ ที่ “หมอกู” (เกิ้ล) บอก แทนที่จะได้สุขภาพดี หายโรค อาจเจ็บป่วยหนักขึ้นไปอีก (ขาดภูมิคุ้มกัน)

งานวิจัยทางการแพทย์แนะนำว่า หลักสำคัญ 3 อย่างเพื่อสุขภาพดีเปรียบได้กับสามเหลี่ยมแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนฐาน คือ การนอนหลับพักผ่อน ส่วนกลาง คือ อาหาร และส่วนบน คือ การออกกำลังกาย แพทย์แนะนำว่า  ส่วนฐาน การพักผ่อนนอนหลับสำคัญที่สุด เวลาที่ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง จะได้เริ่มวันใหม่ด้วยพลังใหม่

ขอให้อานิสงส์ที่ “คุณทอม” แบ่งปันประสบการณ์ ช่วยให้หายป่วยด้วยครับ