มติที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 หรือไม่ ตามญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ยังไม่ได้ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนก่อน จะทำได้หรือไม่
แม้ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีความคิดเห็นหลากหลาย โดยพรรคประชาชน และกลุ่มสมาชิกวุฒสภา ที่เรียกตัวเองว่า สว.พันธุ์ใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการส่งญัตติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เช่น นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่มองว่า อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำตอบชัดเจนกลับมาก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าสว.และพรรคร่วมรัฐบาลจะร่วมแก้รัฐธรรมนูญ อุปสรรคอยู่ที่เจตจำนงของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทางออกอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯต้องแสดงภาวะผู้นำ โน้มน้าวพรรคร่วมรัฐบาลให้สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องแสดงความจริงใจเป็นเจ้าภาพผลักดันแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลให้สำเร็จ
ส่วนน.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ กล่าวว่า แม้ 2 ญัตติจะเขียนต่างกัน แต่ความหมายตรงกันคือ ต้องการรู้ว่า จะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้ง สภาฯเคยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องอ้างว่า การบรรจุวาระประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา แสดงว่า ศาลรัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องไปถามใหม่อีกทำไม
ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เชื่อว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความใช้เวลาไม่เกิน 1เดือน ถ้าไม่ตีความให้ชัดเจน จะเจอวังวนเดิม พรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาเตะถ่วง ต้องการผ่าทางตันให้ชัดเจน ชี้ขาดให้ชัดใครคือ ของจริง ของปลอม การอ้างไปยื่นเพื่อขยายขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในสภามีทั้งคนอยู่ในโลกอุดมการณ์ และโลกแห่งความจริง ในโลกแห่งความจริงประเทศไทยมีศาลรัฐธรรมนูญ ฝืนได้หรือไม่ โลกแห่งอุดมการณ์ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรมายุบพรรค หรือให้นายกฯพ้นตำแหน่ง แต่โลกความจริงยุบมาแล้วกี่พรรค ให้นายกฯพ้นตำแหน่งไปแล้วกี่คน จะอยู่ในโลกอุดมการณ์หรือโลกความจริง การยื่นตีความให้เกิดความชัดเจนจะได้เปิดตาเดิน เป็นวิธีแก้รัฐธรรมนูญถูกต้องที่สุด
ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน มองว่า หากดื้อส่งรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณาแต่ถูกตีตก ต้องรอยื่นใหม่สมัยประชุมถัดไป แต่หากทำโดยละมุนละม่อมให้ศาลรัฐธรรมนูญ หากคำวินิจฉัยเป็นประโยชน์จะทำให้จบได้ หากต้องการรัฐธรรมนูญต้องเอารัฐธรรมนูญ การเมืองยุคนี้เป็นการเมืองกระแส แต่การสร้างกระแสไม่จริง คือการทำร้ายประชาชน และต้มประชาชนแน่นอน ดังนั้นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพรรคเพื่อไทยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 หรือไม่
กระนั้น หากประมวลจากความเห็นของฝ่ายต่างๆ และมองจากเสียงส่วนใหญ่304 เสียงที่เห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกรณีที่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีเคยหารือเรื่องข้อกฎหมายต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตีตกไป ก็สะท้อนชัดเจนว่า อนาคตของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นดูริบหรี่