สมบัติ ภูกาญจน์ ในตอนท้ายของปาฐกถาเรื่อง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทย’ ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงไว้ตั้งแต่เมื่อสี่สิบปีที่ผ่านมาแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปปาฐกถาไว้ดังนี้ “ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนไทยก็ยังเชื่อในความเป็นพระเป็นเจ้าของพระเจ้าอยู่หัว และคนที่เชื่อในความคิดนี้ก็ยังมีอยู่มาก คือเชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีฤทธิ์มีอำนาจต่างๆมากมายหลายประการ เรื่องเหล่านี้ ผมได้สดับตรับฟังมามากด้วยตนเอง ทั้งจากผู้พูดที่เชื่อถือได้ และได้เห็นมาเองด้วยตา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พูดยาก บางทีก็ดูเสมือนเป็นเรื่องอัศจรรย์ เป็นต้นว่า เรื่องฝน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสใหญ่ตามราชประเพณี เสด็จภาคเหนือไปที่เมืองแพร่ เขาปลูกปะรำไว้ให้ราษฎรเฝ้าฯรับเสด็จฯสองปะรำใหญ่หน้าศาลากลาง ปะรำนั้นใหญ่มาก อยากจะพูดว่าจุคนได้เป็นพันๆ ว่างั้นเถอะ เมื่อเสด็จฯลงจากศาลากลางเข้าปะรำแรก ฝนก็ตกหนักลงมา แต่ถึงกระนั้น ก็ยังเสด็จฯให้ราษฎรได้เฝ้าฯอย่างทั่วถึงในหมู่คนนับร้อยนับพันนั่น จากนั้นก็ต้องเสด็จฯต่อไปยังอีกปะรำหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกเกือบร้อยเมตร พอจะก้าวพระราชดำเนินออกไปทั้งที่ฝนยังตก คุณหลวงสุรณรงค์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นราชองครักษ์ ก็เตรียมถวายฉลองพระองค์กันฝน ทรงจับฉลองพระองค์นั้นแล้วก็วางพระหัตถ์ลง พร้อมกับบอกคุณหลวงสุรณรงค์ว่า “คุณหลวง คนอื่นเขาเปียกได้ เราก็ต้องเปียกได้” ผมได้ยินคำนี้กับหู จากนั้นก็เสด็จพระราชดำเนินไป เชื่อไหมว่าฝนที่ตกนั้นหยุดลงทันทีเหมือนปิดฟ้า ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ และฝนก็หยุดไปตลอด จนกระทั่งเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในปะรำที่สอง พอลับพระองค์เข้าไปแล้ว ฝนก็ตกหนักลงมาอีกเหมือนเก่า จั้กเลย ............... นี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่ถ้าไม่เห็นกับตา ผมก็ไม่กล้าพูด แต่ต้องพูดเพราะเห็นมากับตา อีกครั้งหนึ่ง เสด็จฯไร่กำนันจุลที่เพชรบูรณ์ กำนันจุลไม่ทราบว่าจะรับเสด็จอย่างไรดี เพราะมีหมายฯว่าจะเสวยพระกระยาหารกลางวันที่นั่นด้วย กำนันเลยตั้งให้ผมเป็นสารวัตรกำนันประจำตัว แล้วเอาผมไปอยู่เป็นเพื่อนด้วยที่บ้านเพื่อจัดการเรื่องรับเสด็จฯ เมื่อถึงเวลา ก็เสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์มาลงที่ทุ่งนาซึ่งห่างจากบ้านกำนันจุลเล็กน้อย ต่อจากนั้นจะเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งเพื่อเข้าไร่ อันนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดจริงๆที่คนเพชรบูรณ์เขาบอกผมว่าเกิดมาก็ไม่เคยเห็น คือขณะที่เฮลิคอปเตอร์ปรากฏแก่สายตา ก็มีนกใหญ่ฝูงหนึ่งบินมาจากไหนไม่ทราบ และไม่กลัวเฮลิคอปเตอร์ด้วย นกใหญ่ฝูงนั้นบินมารวมกันเป็นวงกลมเหมือนร่มหรือฉัตรอะไรทำนองนั้น กั้นอยู่ห่างๆ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ค่อยๆลงแตะพื้นดิน จากนั้นก็บินวนอยู่อีกพัก จนกระทั่งเสด็จฯขึ้นรถพระที่นั่งแล้ว จึงได้บินหายไป ชาวบ้านที่ไปรับเสด็จฯพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดมาก็ไม่เคยเห็นภาพอย่างนี้ ทั้งๆที่เฮลิคอปเตอร์นั้น นอกจากจะเสียงดังแล้วยังมีใบพัดหมุนน่ากลัว แต่ทำไมนกเหล่านั้นถึงได้หมดความเกรงกลัว ร่วมกันทำอย่างนั้นได้ อีกครั้งหนึ่ง เสด็จฯไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี ผมได้มีโอกาสตามไปอีก ตกกลางคืน ผมก็ออกมากินเหล้าพูดคุยกับผู้คนที่ร้านขายเหล้า ได้พบชาวอุบลฯคนหนึ่ง เขาเดินเข้ามาในร้าน ได้พูดคุยกัน แล้วเขาก็พูดขึ้นว่า ทำไมพระเจ้าอยู่หัวองค์นี้ท่านจึงมีบุญเหลือเกิน ผมก็ถามเขาว่าแล้วยังไง เขาบอกว่า เมื่อคืนที่แล้ว คนอุบลออกไปลงเรือทอดแหหาปลา ทอดแหโครมเดียวได้ช้างขึ้นมาทั้งตัว แล้วก็เป็นเรื่องจริงด้วย เพราะช้างนั้นลอยน้ำมาจากไหนไม่ทราบ เกิดมาติดแหคนอุบลเข้าในคืนวันนั้น... จนในที่สุด เขาก็เอาช้างตัวนั้นขึ้นน้อมเกล้าฯถวาย ในที่สุดพลายตัวนี้ก็ได้มาอยู่ที่เขาดิน มีชื่อว่าพลายบุญเลิศ การเสด็จพระราชดำเนินไปตามต่างจังหวัดเหล่านี้ เป็นขั้นแรกของการใช้ขนบแนวทางที่จะทรงปฏิบัติต่อมาในสถานการณ์ต่างๆจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น ทรงปฏิบัติพระราชกิจเป็นขั้นๆจากน้อยไปหามาก จนถึงบัดนี้พระมหากรุณาธิคุณนั้นก็แผ่ไพศาลเต็มไปหมดต่อประชาชนชาวไทย ในขั้นต้นทรงใช้ธรรมะเรื่องความไม่ประมาท คือเสวยราชสมบัติแล้วก็ทรงประทับอยู่ในกรุงเทพฯเพื่อศึกษาสถานการณ์ต่างๆอย่างรอบคอบและสงบ ต่อมา ก็ทรงใช้ราชประเพณี เสด็จออกประพาสตามหัวเมืองใหญ่ๆ อันเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ในยุคหลังๆ ทุกรัชกาล ทรงทำหลังจากพิธีราชาภิเษกแล้ว ซึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงเสด็จฯไปยังทุกภาค และเข้าใกล้ชิดกับประชาชนไปจนถึงบ้านถึงช่อง ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ทรงพระราชดำเนินไปถึงหมด ดังจะเห็นได้ว่า มีพระราชฐานที่ประทับปรากฏไปทั่วทุกแห่ง ใครไม่รู้ก็อาจจะนึกว่าเป็นการใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อ แต่ความจริงแล้วคือการสร้างความหมายว่าพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึงที่เหล่านั้นแล้ว และพระราชฐานหลายแห่งก็สามารถใช้เป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองได้ หรือใช้เป็นที่ประทับทรงงานหรือเป็นออฟฟิซในการทำงานโครงการใดโครงการหนึ่งได้ด้วยในขณะเดียวกัน (ขออนุญาตหมายเหตุ; ว่า กาลครั้งหนึ่งในเมืองไทย แม้กระทั่งเรื่องราวเหล่านี้ ก็ยังต้องการคนที่จะออกมาพูดเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ และเกิดความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องและแท้จริง) พระราชกฤษดาภินิหารที่สำคัญที่สุด ที่ผมอยากเน้นไว้ในตอนท้าย ก็คือ จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตามที คนไทยทุกคน ถ้าได้เข้าเฝ้าฯพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดแล้ว ทุกคนจะรู้สึกตัวเองว่าตนเป็นคนดีขึ้นมา ผมคิดว่านี่คือพระราชกฤษดาภินิหารอันประจักษ์ชัด ที่คนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกเช่นนั้นโดยทั่วไป การวางพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่มีข้อผิดพลาด การตระหนักในพระราชอำนาจที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย การมีพระราโชบายและพระมหากรุณาธิคุณ อันเป็นคุณซึ่งมีอยู่ในเทพหรือพระเป็นเจ้า อยู่ในใจของผู้คนนั้น จะยิ่งเพิ่มพระราชกฤษดาภินิหารให้ปรากฏแก่สายตา และแก่ใจของผู้คนได้ตลอดกาล ท้ายที่สุดนี้ ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่า ไม่ว่าการปกครองของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เที่ยงแท้ และยึดถือเป็นหลักในแผ่นดินไทยได้ตลอด และน่าจะมีข้อเพลี่ยงพล้ำน้อยที่สุด คือ การมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักที่สำคัญประการหนึ่งในการปกครองของประเทศไทย ” ปาฐกถาชิ้นนี้ ผู้พูดได้แสดงความเห็นไว้นานแล้วกว่า 40 ปี ตลอดระยะเวลานับจากที่พูด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ก็ยังคงทรงกระทำสิ่งต่างๆอันเป็น ‘คุณ’แก่แผ่นดิน และผู้คนชาวไทย อีกมากมายมหาศาล และสืบเนื่องอยู่ตลอด แม้กระทั่งอีกช่วงสองทศวรรษหลังจากที่ผู้แสดงปาฐกถาชิ้นนี้ตายจากโลกนี้ไป ผมเรียบเรียงเรื่องราวเหล่านี้ไว้ ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน เพื่อค่อยๆทะยอยนำลงเป็นตอนๆไป แต่เดิมนั้นผมปิดข้อความส่งท้ายไว้ด้วยข้อเขียนหนึ่ง แต่มาถึงวันนี้ ก็คงจะไม่มีข้อความใดที่จะเหมาะสมไปกว่า โอกาสที่พวกเราชาวไทยจะร่วมกันเปล่งเสียง ว่า ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จงทรงพระเจริญควบคู่ไปกับความหวังว่า ประเทศไทยของพวกเราชาวไทยทุกคน จะต้องดีขึ้นในอนาคต