ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ วันที่ 9 มกราคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี) มีการจัดกิจกรรมสำคัญซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สันติภาพ” ชายแดนใต้ ในระยะต่อไป นั่นคือ “การรับฟังความคิดเห็นต่อทิศทางการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมากจากหลากหลายสาขาอาชีพ นับเป็นหนึ่งในเส้นทางความหวังของกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สันติภาพ ที่มีผู้คนหลายคนหลายฝ่ายพยายามเคลื่อนไหวแสวงหาแนวทางออกร่วมกัน ทำให้ผู้เขียนย้อนคิดถึงกิจกรรมเมื่อปลายปี 2561 ของ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้ และองค์กรพันธมิตร” ในเวที สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 “พลังประชาสังคม พลังสันติภาพ” (CIVIC POWER : POWER FOR PEACE) นำมาซึ่งรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สันติภาพ ชายแดนใต้/ปาตานี 2018” ที่มีเนื้อนัยสำคัญหลายประการน่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับทิศทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สันติภาพโดยรวม ในบทเกริ่นนำ : สภาประชาสังคมชายแดนใต้กับการสร้างพื้นที่กลาง นำเสนอให้เห็นข้อสรุปในที่มาของรายงานว่า เป็นผลลัพธ์ความพยายามอย่างต่อเนื่องของผู้คนอันหลากหลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือภูมิภาคปาตานี ที่จะสะท้อนเสียงและผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็นที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 จนถึงตุลาคม 2561 สาระสำคัญของรายงาน เป็นผลมาจากการแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองต่อประเด็นปัญหา ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่แห่งนี้กำลังเผชิญหน้าและรับมืออยู่อย่างแข็งขัน ด้วยฐานะที่เป็นกลไกการทำงานนอกภาครัฐ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสันติภาพจากผู้คนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพยายามหาทางออกโดยสันติวิธีระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สันติภาพในรายงานฯ เป็นผลการดำเนินงานตามกรอบของ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ในระยะที่สอง (ระหว่างปี 2559–2561) ที่ต้องการเห็นสังคมแห่งนี้เป็น “สังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพสำหรับทุกคน” ถือว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้มีพันธกิจที่จะต้องหนุนเสริมการสร้างสันติภาพและกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สันติภาพนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่กลางเพื่อผลักดันเชิงนโยบาย (Common Space and Advocacy) อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการแรกซึ่งจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์อีก 2 ด้าน นั่นก็คือการเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองให้กับภาคประชาสังคม (Empowerment) ควบคู่ไปกับการสร้างและขยายเครือข่ายของสภาประชาสังคมชายแดนใต้เอง (Networking) เนื้อหาในรายงาน สะท้อนถึงกระบวนการจัดทำข้อเสนอชิ้นนี้ว่า เริ่มตั้งต้นขึ้นหลังจากการระดมสมองกลางปี 2559 เพื่อสรุปบทเรียนการทำงานของค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ในรอบ 12 ปี (นับตั้งแต่ความรุนแรงได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งในปี 2547 เป็นต้นมา) กระทั่งผลิตเป็นยุทธศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ข้างต้น จากนั้น เดือนสิงหาคมและต่อเนื่องอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2559 จึงได้ริเริ่มเปิดพื้นที่พบปะระหว่างตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ผ่านกระบวนการจัดทำแผนที่การทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคม (Mapping) เพื่อตระหนักถึงตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ และศักยภาพที่จะทำงานร่วมกันในอนาคต โดยมีองค์กรที่เข้าร่วมกว่า 70 กลุ่ม กิจกรรมดังกล่าว ยังกลั่นให้ได้มาซึ่งประเด็นปัญหาสาธารณะที่กลุ่มต่างๆ กำลังรับมืออยู่ สามารถจำแนกแยกแยะได้ถึง 14 ประเด็นและกลุ่มงาน ในจำนวนนี้มี 5 ประเด็นสำคัญที่ผู้เข้าร่วมเรียงลำดับความสำคัญไว้สูงสุด ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหารบนฐานทรัพยากร พื้นที่สาธารณะปลอดภัย ห้องเรียนสันติภาพในชุมชน วาระการพัฒนาเด็กและเยาวชน และการสื่อสารที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน จาก 5 ประเด็นสาธารณะข้างต้น สภาประชาสังคมชายแดนใต้และผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวแทน และสมาชิกขององค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ได้ร่วมกันพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมที่รับผิดชอบในการยกร่างข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็น มีการเปิดเวทีย่อยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2560 เพื่อให้มีการระดมความคิดเห็นในสาระสำคัญของทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น ตั้งแต่การประเมินสถานการณ์และปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ การพิจารณานโยบายหรือทิศทางของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการระดมข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมที่มาจากองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งในส่วนที่เป็นองค์กรสมาชิกของสภาเองและองค์กรพันธมิตรต่างๆ ล่าสุด ได้จัดเวทีติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมติ 1.3 และมติสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2561 กระทั่งสามารถสรุปออกมาเป็นเอกสารชิ้นนี้ในที่สุด สำหรับสาระสำคัญโดยละเอียดในรายงานฯ สำหรับผู้สนใจโดยทั่วไปสามารถหามาดาวน์โหลดอ่านเพื่อการศึกษา ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีข้อเสนอแนะนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ร่วมกันได้ แต่สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสะท้อนคือ ในท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะห้วงเวลารอยต่อปีเก่า 2561 กับช่วงหลังปีใหม่ 2562 ซึ่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายกรณีนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และความตื่นตระหนกต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ยังคงมีบุคคลและหน่วยงานหลากหลายองค์กรซึ่งพยายามแสวงหาแนวทางที่จะ “ยุติปัญหาไฟใต้” ที่ยืดเยื้อมานานให้สำเร็จให้จงได้ มิเช่นนั้นแล้ว ภายใต้ปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างต้องเผชิญ ภายใต้การเดินเกมการเมืองของการเมืองของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในคู่ขัดแย้ง ผลสุดท้ายเป้าหมายปลายทางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น “ประชาชนตาดำๆ” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด ศาสนาใด ต่างล้วนมีเลือดข้นสีแดงเช่นกัน