สถาพร ศรีสัจจัง

“ร่ายพัฒนา

@ โอม…ธรณีประลัย  แผ่นดินไทยดั่งดินเดือด  ฟ้าสีเลือดคำรณคราง  เกียรติกระดางลางลือระบัด  อา…ยุคพัฒนาการ  จอมอันธพาลเถลิงอำนาจ  ปวงประชาราษฎร์อาเภท  เปรตกู่ก้องร้องตระเมิม   กระหายเหิมแลบลิ้นอยู่วะวาบวาบ  แสยะเขี้ยวเขียวปราบอยู่วะวับวะวับ  …มือถือสากปากถือศีลตีนกระทืบคืบก็หอกศอกก็ปืน  หืนโหดโฉดชาติ  อนาถหนอกรุงเทพมหานคร  อมรรัตนโกสินทร์  อา…เมืองอินทร์หยาดฟ้า ผีเปรตย่ำหยาบช้า  จักช้ำ ฤาไฉน ฯ

โคลงสี่สุภาพ

………………………………

@ อำนาจบาตรใหญ่เหี้ยม      โหดหืน

ย่ำระบบยุติธรรมยืน               เหยียบเย้ย

ปืนคือกฏหมาย…ปืน             ประกาศิต

"ผิดชอบอั้วเองเว้ย"              "ชาตินั้นคือกู"

ถือม.สิบเจ็ดใช้                    ประหารชน

เหมือนหนึ่งหมากลางถนน      หนักหล้า

เห็นคนบ่เป็นคน                   ควายโง่ (โอยพ่อ)

กดบ่ให้เงยหน้า                   "นิ่งโว้ย …ม่ายตาย"

บทกวีที่ยกมาเป็นเหมือน “บทเปิดเรื่อง” ของกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา” ของ “กวีการเมือง” หรือ “จิตร  ภูมิศักดิ์”

“โยธิน  มหายุทธนา” ซึ่งภายหลังได้รับการเปิดเผยว่าเป็นนามปากกาของ “สหายร่วมรบ” และ “ร่วมเรียน” ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ของ “จิตร  ภูมิศักดิ์” ได้เขียนถึงผลงานกวีนิพนธ์ที่ได้รับการรวบรวมพิมพ์ไว้ในหนังสือ “รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปวรรณคดีของกวีการเมือง” (พ.ศ.2517) ไว้ตอนหนึ่งว่า

“…กวีนิพนธ์ปฏิวัติ ที่้รานำมารวมพิมพ์ลงในหนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานที่ท่านเขียนขึ้นในระหว่างอยู่ในคุกเช่นกัน และได้ลักบอบส่งออกมาพิมพ์ในหนังสือ “ประชาธิปไตย”  ประมาณปีพ.ศ.2507…”

อาจกล่าวได้ว่า ภูมิหลังของจิตร  ภูมิศักดิ์ กับ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ นั้นมีความข้องเกี่ยวและ การรับรู้ “ทางตรง” กันอยู่ไม่น้อย

ค่าที่จอมพลสฤษดิ์เริ่มมีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนในช่วงที่จิตร  ภูมิศักดิ์ ก็เริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองที่แจ่มชัดขึ้น จิตรร่วมเดินขบวนคัดค้าน “การเลือกตั้งสกปรก” (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500) ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม จัดขึ้นเพื่อ “ฟอกตัวเอง” จากภาพ “เผด็จการ” ให้เป็น “ประชาธิปไตย” (เพราะมาจากการเลือกตั้ง!)

และในวันนั้นเองที่ “สฤษดิ์  ธนะรัชน์” ได้ฉวยโอกาสผลักตัวเองขึ้นเป็น “ขวัญใจนักศึกษาประชาชน” โดยการขึ้นปราศรัยบนเวทีประท้วงและแสดงตัวเหมือนมีความคิดเข้าข้างนักศึกษา

จิตร  ภูมิศักดิ์ ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมเดินขบวนในครั้งนี้ จึงอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมชื่นชม “ขวัญใจประชาชน” อย่าง “สฤษดิ์  ธระรัชต์” ในวันนั้น

“ขวัญใจประชาชน” ผู้กลายเป็นผู้นำในการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้านายเก่าในวันที่ 16 กันยายน 2500

และ กลายเป็น “ทรราช” ผู้ “ทรยศประชาชน” ในสายตาและความคิดของจิตรในห้วงเวลาต่อมา

ภาพของสฤษดิ์ในสายตาและความคิดของ “ปัญญาชนหัวก้าวหน้า” อย่างจิตร  ภูมิศักดิ์ ในวันนั้นก็แจ่มชัดยิ่งขึ้น เมื่อ สฤษดิ์  ธนะรัชต์ บินกลับจากการไป “ผ่าม้าม” ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อทำการรัฐประหารรัฐบาลภายใต้การนำของ “ถนอม กิตติขจร”ซึ่งเป็นเสมือน “นอมินี” ของตัวเอง เพื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” และ “นายกรัฐมนตรี” ครองอำนาจในการปกครองประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จในวันที่ 20 ตุลาคม 2501

“กวีการเมือง” จึงให้ฉายาสฤษดิ์ว่า “ควายเขาระฟ้า” ในกวีนิพนธ์ชุดนี้ในหลายที่ เช่น “…โอม…ละลายมหาละลายควายเขาระฟ้า/บ้าเลือดเดือดดุ/ตาปะทุเป็นเปลวเพลิง…” หรือในบท “คำเตือน…จากเพื่อนเก่า” ตอนหนึ่งที่ว่า “…ลืมควายเขาระฟ้า/อาชญากรที่บ้ากาม…” เป็นต้น

นอกจากนั้นยังสะท้อนความผิดหวังต่อความเป็น “ขวัญใจประชาชน” ให้เห็นไว้ในหลายตอนเช่น “…เจ้าเคยประกาศตน/เป็นคำคนที่เรียกขาน/ชื่อใดมิแว่วหวาน/เท่า “ขวัญใจประชาชน”…หรือ “…เสียแรงที่คลั่งไคล้/เป็น “ขวัญใจประชาชน” /สู้ทอดอุทิศตน/เข้าตามต้อยบ่กลัวตาย…” เป็นต้น

สาเหตุที่น่าจะสำคัญที่สุดที่ทำให้ “กวีการเมือง” หรือ จิตร  ภูมิศักดิ์ เห็นว่า สฤษดิ์  ธนะรัชต์ คือ “ศัตรูประชาชน” ก็คงเป็นเพราะ จอมพลต้นแบบนักรัฐประหารตัวจริงผู้นี้เองที่ได้สร้าง “ยุคมืด” หรือ “ยุคทมิฬ” อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นในสังคมไทยหลังการรัฐประหารตัวเองในปี พ.ศ.2501

เพราะหลังการรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม ดังกล่าว ในวันรุ่งขึ้นเขาก็สั่ง “กวาดล้าง” โดยการจับกุมกลุ่มคนที่เขาเห็นว่ามีความคิดทางเมืองที่ขัดแย้งหรือเป็นภัยกับตนอย่างกว้างขวาง

ด้วยข้อหาเหวี่ยงแหที่เรียกว่า “กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์”!

จิตร  ภูมิศักดิ์ หรือ “กวีการเมือง” ติด “โพย”  เป็นหนึ่งในกลุ่มคนดังกล่าว เขาถูกจับในวันที่ 21 ตุลาคม 2501 มีรายละเอียดระบุว่า “…เวลานั้น จิตร  ภูมิศักดิ์ อายุ 28 ปี สูง 175 เซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ 57 กิโลกรัม ถูกจับเมื่อเวลาประมาณ16.00 น. ณ บ้านเลขที่ 337/12 ถนนศรีอยุธยา …ตำรวจยึดของกลางเป็นหนังสือ 21 เล่ม…"!!!ฯ