รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์/มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“หาเสียง” ซึ่งโดยทั่วไป หมายถึง แสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชน หรือสมาชิกของชุมชน เพื่อได้คะแนนโหวตในการเลือกตั้ง โดยจากการที่ได้พบเจอป้ายแนะนำตัวตามสถานที่ทั่วไป ณ วันนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทย กำลังเข้าใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งอีกไม่นาน...
อย่างไรก็ตาม การหาเสียงให้ได้ผล จำเป็นต้องมีการเลือกใช้ยุทธวิธีการหาเสียง โดยจากการถาม “ประชาชน” จำนวนทั้งสิ้น 1,174 คน ของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อไม่นานมานี้ สรุปผลได้ ดังนี้
วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. แบบใด? ที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 29.32 คือ ตั้งเวทีปราศรัย รองลงมา ได้แก่ ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 26.00 เคาะประตูบ้าน ร้อยละ 25.13 มีขบวนรถหาเสียง ร้อยละ 9.08 ผ่านเว็บไซต์ของพรรคการเมือง ร้อยละ 6.98 ติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ร้อยละ 6.81 และส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 0.52
“สื่อ” ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประชาชนให้ความสนใจ พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 33.85 คือ โทรทัศน์ รองลงมา ได้แก่ สื่อบุคคล เช่น ตัวผู้สมัคร/หัวหน้าพรรค/ผู้สนับสนุน ร้อยละ 27.55 โซเชียลมีเดีย ร้อยละ 20.70 และ อื่นๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ รถหาเสียง แผ่นพับ ใบปลิว เป็นต้น ร้อยละ 17.90
ผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงแบบใด? ที่ประชาชนไม่ชอบ พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 35.92 คือ คุยโม้โอ้อวด อวดอ้าง ขายฝัน ทำไม่ได้ตามที่พูดไว้ รองลงมา ได้แก่ ซื้อเสียง ติดสินบน กระทำผิดกฎกติกาที่กำหนด ร้อยละ 34.24 หาเสียงด้วยวิธีการรบกวนผู้อื่น เช่น รถแห่เสียงดัง ติดป้ายสมัครบังทาง รบกวนเวลาส่วนตัว ร้อยละ 25.84 ใส่ร้ายผู้สมัครฝั่งตรงข้าม โจมตี สาดโคลนกันไปมา ร้อยละ 18.28 และไม่ลงพื้นที่เอง ใช้หัวคะแนนลงพื้นที่ ไม่เข้าหาประชาชน ร้อยละ 14.92
ผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงแบบใด? จึงจะถูกใจประชาชน พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 41.93 คือ เน้นสิ่งที่ทำได้จริง พูดแล้วทำจริง ทำตามที่พูด ไม่สร้างภาพ รองลงมา ได้แก่มีนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน ไม่เป็นประชานิยม มีแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรม ร้อยละ 32.29 ลงพื้นที่ จัดเวทีปราศรัย หาเสียงผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ไลฟ์สด ร้อยละ 23.27 เคารพกฎกติกา ไม่ใส่ร้าย โจมตีกัน พูดมีสาระ สุภาพ น่าฟัง ร้อยละ 21.80 และดีเบตแบบในต่างประเทศ แสดงวิสัยทัศน์ออกทีวี ร้อยละ 15.51
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ความคิดเห็นของ “ประชาชน” เกี่ยวกับการหาเสียง ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลที่ปรากฏน่าจะมีประโยชน์ต่อ “นักการเมืองหน้าเก่า...หน้าใหม่” ในการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ เพื่อกำหนดยุทธวิธีที่ใช้ในการหาเสียงไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 ที่มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก อาจทำให้การ “หาเสียง” จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามที่กฏหมายกำหนดอีกด้วย
วิธีการหาเสียงซึ่งทำได้ ณ วันนี้ โดยไม่ผิดกฏหมายนั้น อาทิ การทำโปสเตอร์ จัดรถแห่ ตั้งเวทีปราศรัย หรือให้มีผู้ช่วยหาเสียง การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย กฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามดูหมิ่น ใส่ร้าย สัญญาว่าจะให้ ฯลฯ หรือแม้แต่การใช้งานรื่นเริงมาช่วยหาเสียง แต่ห้ามใช้อุปกรณ์ เป็นต้น
แม้การกำหนดกฏเกณฑ์ที่มากขึ้น อาจทำให้การหาเสียงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรค์ในการเลือกตั้ง เพราะจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่งผลให้รูปแบบการหาเสียงเลือกตั้งมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
“การเคาะประตูบ้าน” เป็นกลยุทธ์ที่ไม่มีวันตกยุคซึ่งใช้ในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เข้าไปพบประชาชนโดยตรงถึงบ้านหรือสถานที่ประกอบการ เพื่อรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชน เป็นการสร้างภาพลักษณ์และสร้างคะแนนนิยมแก่ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยมุ่งแสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่า บุคคลผู้นั้นมีความใกล้ชิดกับประชาชน และเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงและรับรู้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะที่ “การไฮด์ปาร์ค” มีที่มาจากชื่อสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงทางด้านการชุมนุมทางด้านการเมือง และการพูดแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีต่อสาธารณชน สำหรับประเทศไทยการไฮด์ปาร์คมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2497 ณ สนามหลวง เป็นการอภิปรายปัญหาแบบเรียนเบสิคของหลวงพรหมโยธี จากนั้นมาทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะมีการวิจารณ์ทางการเมือง โดยไฮด์ปาร์คจัดเป็นกิจกรรมการเมืองที่เฟื่องฟูอย่างมากในยุคสมัยหนึ่ง
ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้า จึงทำให้มีการนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ Facebook Twitter YouTube มาประยุกต์ใช้ในการหาเสียงหรือกิจกรรมทางการเมือง ช่องทางเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้การติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังถูกฝ่ายการเมืองนำมาประยุกตใช้ในการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย จนอาจเรียกได้ว่า “การเคาะประตูบ้านผ่านสื่อออนไลน์” โดยผ่านฐานข้อมูลส่วนตัว เช่น อีเมล์ SMS หรือ Social Media
ดังนั้น ณ วันนี้ พรรคการเมือง ไม่อาจหลีกเลี่ยงการปรับยุทธวิธีการหาเสียงใหม่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งการหาเสียง แม้จะมียุทธวิธีที่หลายหลาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการหาเสียง ก็คือ จะต้องไม่ใช้วิธีหาเสียงที่ถูกใจประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้วิธีที่ถูกกฎหมายอีกด้วย
เพราะหากพรรคการเมืองต่างๆ ใช้ยุทธวิธีหาเสียงที่ “ไม่ถูกที่...ถูกเวลา...ถูกกฏหมาย” ก็อาจทำให้ยุทธวิธีหาเสียงกลายเป็นยุทธวิธีทำลายเสียง ซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกปวดหัว รู้สึกว่าตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อ จนทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายเรื่องการบ้านการเมือง ก็เป็นได้..!!