สถาพร ศรีสัจจัง
แน่นอนว่านาม “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ย่อมเป็น “จำเลยหมายเลข 1” ในฐานะ “ศัตรูทางความคิด” ภายในประเทศ เหมือนกับที่ชื่อ “จักรพรรดินิยมอเมริกา” ที่เป็นชื่อจำเลยหมายเลข 1” ภายนอกประเทศในสายตาและในทรรศนะของ “กวีการเมือง” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์”
ทำไมจึงสามารถสรุปได้เช่นนั้น?
ก็เพราะ ในทรรศนะของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นนักคิดและนักต่อสู้เพื่อขีวิตที่ดีกว่าของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ(ประมวลจากการอ่านข้อเขียนของเขาที่เกี่ยวกับสองชื่อที่เพิ่งกล่าวมาโดยตรง) ในแง่องค์รวม เขาเห็นว่า ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ “จักรพรรดินิยมอเมริกา” เป็นตัวการสำคัญในหลายเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยมี “ปัญหา” (ในห้วงเวลานั้น)
เราจะว่ากันไปทีละเรื่องทีละประเด็น โดยในการพิจารณาครั้งนี้ จะขอยกเอาข้อมูลจากงานกวีนิพนธ์ในนาม “กวีการเมือง” มาเป็นข้อมูลหลัก และอาจคาบเกี่ยวไปถึงข้อมูลที่เป็นข้อเขียนในนามอื่นของท่านบ้าง หากเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องยกมาอ้าง
เรื่องแรกคือเรื่องที่เกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทย(อย่างเป็นทางการ)ระหว่าง 9 กุมภาพันธ์ 2502 ถึง 8 ธันวาคม 2506
ซึ่งในความเป็นจริงทางพฤตินัย เอตทัคคะทางการเมืองล้วนสรุปว่า เขามีอำนาจสั่งการสูงสุดในการปกครองประเทศ มาตั้งแต่เมื่อทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงครามได้สำเร็จในคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 ได้สำเร็จโน่นแล้ว
แม้ในตอนนั้นเขาจะประกาศแต่งตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการจัดให้มีเลือกตั้งขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย(แบบหลอกๆ)ก็ตาม
เพราะผลการเลือกตั้ง(หลอกๆ)ในครั้งนั้น ก็ได้ลูกน้องคนสนิทของเขาคือ “พลโทถนอม กิตติขจร” (ยศตอนนั้น)นั่นเองมาเป็นนายกรัฐมนตรี(หน้าม่าน555)
และเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของพลโทถนอม กิตติขจร ไม่สามารถควบคุมความสงบทางการเมืองในรัฐสภาได้ จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งตอนนั้น(อ้างว่า)ไปรักษาตัวอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็รีบกลับมาจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยการทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง นับเป็น"การรัฐประหารตัวเอง"เป็นครั้งแรกของไทย(ซึ่งลูกน้องผู้ได้รับการสืบทอดอำนาจหลังเขาตายซึ่งก็คือ “ถนอม กิตติขจร” (อีกนั่นแหละ)ก็ได้นำรูปแบบ “การรัฐประหารตัวเอง” มาใช้อีกครั้ง ในเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514)
ดูจากเรื่องราวแล้ว อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นสำหรับคนรุ่นหลังว่า ทำนองว่า ทำไมสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงทำอะไรกับบ้านเมืองไทยได้อย่างง่ายดายแบบ “หมูในอวย” โดยไม่มีกระแสต่อต้านจากประชาชนแม้สักแอะเดียว!
คำตอบก็คือ เพราะก่อนหน้านั้นในเมืองไทยมี “เหตุการณ์สร้างวีรบุรุษ” ขึ้นหลายเรื่อง!
เหตุการณ์เหล่านั้นเองที่ทำให้นาม “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ได้รับการขานเรียกแบบก้องกระหึ่มขึ้นในสังคมไทยตอนนั้นว่า คือ “วีรบุรษสะพานมัฆวาน” และ “ขวัญใจประชาชน”!
เรื่องเหล่านี้เราจะไปดูรายละเอียดกันในบทกวีนิพนธ์ของ “กวีการเมือง” กันว่า เขาได้รจนาถึงไว้อย่างไรบ้าง…อีกครั้ง
“กวีการเมือง” ได้เขียนบทกวีขนาดยาวชิ้นๆสำคัญๆถึง “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” และ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกลางห้วงยามแห่งการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการของ “สฤษดิ์” ของเขาไว้หลายเรื่องด้วยกัน
เฉพาะที่ “นิสิต จิระโสภณ” แห่งแนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวบรวมไว้ในหนังสือชื่อ “รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปวรรณคดีของกวีการเมือง” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2517 มีทั้งสิ้นรวม 5 ชื่อเรื่อง ได้แก่ “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร” “วิญญาณสยาม” “คาวกลางคืน” “เนื้อ นม ไข่” และ “คำเตือนจากเพื่อนเก่า”
กวีนิพนธ์ขนาดยาวทั้ง 5 เรื่องนี้ สะท้อนความจัดเจนด้านการเลือกใช้ “รูปแบบ” ฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทยได้อย่างยอดเยี่ยม
สะท้อนถึงความตระหนักรู้ถึงคุณค่าฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ส่งต่อสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ “กวีการเมือง” ได้สำแดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า สิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต-ศิลปะเพื่อประชาชน” นั้นเป็นอย่างไร ด้วยการเลือก “เนื้อหา” (content) ที่สอดรับกับ “น้ำเสียง” “มุมมอง” และ “ทรรศนะ” ในการวิเคราะห์ที่แจ่มชัดว่า มีจุดมุ่งเพื่อพิทักษ์และปกป้องผลประโยชน์ของชนส่วนใหญ่ของสังคม!
โดดเด่นและมีลักษณะสร้างสรรค์อันควรต้องยกมากล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ การนำ “โคลง 5” ซึ่งเป็นโคลงโบราณที่เคยใช้เขียน “ลิลิตโองการแช่งน้ำ” หรือ “ประกาศแช่งน้ำโคลง 5” ในยุคอยุธยา มาปรับใช้ใหม่ เป็น “โคลงห้าพัฒนา” ที่ทรงคุณค่ายิ่ง!!!ฯ