การพัฒนาทุนนิยมของไทยนั้น พิกลรูปคือมิได้นำส่วนดีของ “ทุนนิยม” มาใช้ทั้งหมด และสังคมไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างไม่สมดุลกันในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจ มีนักวิชาการเช่น “ภัทรษมน รัตนางกูร” เรียกทุนนิยมไทยว่า “ทุนนิยมบริวาร” และวิเคราะห์ว่า แม้เศรษฐกิจไทยเจริญขึ้น แต่คนไทยกลับยากจนมากขึ้น อุตสาหกรรมแบบตะวันตกมีส่วนสำคัญในการทำให้คนส่วนหนึ่งยากจนลงหรือเป็นผู้สร้างความยากจนยุคใหม่ขึ้น เพราะการพัฒนาทุนนิยมในประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทย เป็นการพัฒนาทุนนิยมแบบบริวารที่มีการผูกขาด การแข่งขันไม่เป็นธรรม พึ่งการลงทุนจากต่างชาติ การสั่งเข้าเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวย ไม่ได้พัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง การเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประโยชน์กับทุนต่างชาติ และนายทุนใหญ่ในประเทศมากกว่าที่จะกระจายสู่คนส่วนใหญ่ ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เกิดคนจนมากขึ้น ประชาชนยังถูกทำให้จนลงโดยนโยบายพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมบริวาร การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสวนทางกับการกระจายรายได้ภาคประชาชนด้วยเหตุผลหลายประการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 1. การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้เกษตรกรเหมือนทาสของทุนนิย การเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อกินเพื่อใช้ มาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเดี่ยวเพื่อขายหาเงินไปซื้อของกินของใช้ ทำให้เกษตรกรพึ่งพาการใช้เงินและตกอยู่ใต้อิทธิพลระบบตลาดทุนนิยมผูกขาด นอกจากนั้นยังทำให้ “วิถีชีวิต” ของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง “ชนบท” กลายเป็น “เมือง” ไปหมดแล้ว เกษตรกรต้องผลิตเพื่อ “ขาย” เท่านั้น อย่างชาวนาก็ฝันว่าจะทำนาให้ได้เจ็ดรอบในระยะสองปี ซึ่งระยะเวลากาลปลูกสั้น จึงต้องปลูกข้าวพันธุ์คุณภาพต่ำ เกษตรกร แม้มีรายได้เป็นตัวเงินสูงขึ้นก็ตาม แต่ขณะเดียวกันรายจ่ายของพวกเค้ากลับเพิ่มมากกว่ารายได้ที่ได้รับ ซึ่งนับว่ายิ่งทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่มีความลำบากยากแค้นเพิ่มมากขึ้น 2. ทำลายวิถีชีวิตชุมชนแบบยอมรับกรรมสิทธิ์ร่วมในเรื่องป่าไม้ ที่ทำกิน ทรัพยากรต่าง ๆ และการอยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไปเป็นวิถีชีวิตแบบการแย่งชิงทรัพยากรไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดและการบริโภคสูงสุด การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม 3. ทำลายทรัพยากรธรรมชาติสภาพแวดล้อมแหล่งทำมาหากินและยังชีพที่คนในชนบทเคยอาศัยทำมาหากินแบบเพียงพอ คนถูกกวาดต้อนให้เข้าสู่ระบบผลิตทุนนิยมผูกขาดที่วิถีการผลิต วิถีการบริโภคของคนขึ้นอยู่กับการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภคที่ต้องหาเงินมาซื้อมากขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่คนในชนบทและคนงานในเมืองควบคุมไม่ได้หรือไร้อำนาจในการตัดสินใจ และทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจทุนโลกหรือโลกาภิวัตน์ทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาบางส่วนมีงานทำ แต่ได้ค่าแรงต่ำกว่าแรงงานประเภทเดียวกันในประเทศของเจ้าของทุน รวมทั้งประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา ต้องซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในราคาสูง ที่ไม่ต่างจากสินค้าที่สั่งเข้าจากต่างประเทศ คนรวย คนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหุ้นส่วน หรือมีงานที่ได้เงินเดือนและรายได้สูง อาจได้ประโยชน์จากความร่ำรวยทางวัตถุของยุคโลกาภิวัตน์เพิ่มขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์น้อยมาก หรือยิ่งยากจนลง เพราะต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรและค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าการเพิ่มของรายได้ของพวกเขา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยผ่านการค้าโลก บริษัททางด้านเกษตรได้กำไรมากขึ้น แต่เกษตรกรกลับยากจนลง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับได้ไปเพิ่มความยากจนให้เพิ่มขึ้นด้วย