สถาพร ศรีสัจจัง
“กวีการเมือง” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” กล่าวไว้ในบทความชื่อ “ช่า-ช่า-ช่า-บุ้ม!” ในคอลัมน์ “ศิลปะวิจารณ์” ของนิตยสาร “ปิตุภูมิ” (ช่วงพ.ศ.2499-2500) ตอนหนึ่งว่า : …
“…วิธีการครอบครองเอาประเทศต่างๆไว้เป็นเมืองพึ่ง กึ่งเมืองขึ้น หรือให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรพรรดินิยม(อเมริกา)นั้น นอกจากจะใช้วิธีการเข้าควบคุมทางเศรษฐกิจ…และการเข้าควบคุมแทรกสอดในทางการเมือง…แล้ว จักรพรรดินิยมยังได้นำวิธีการที่จะพยายามเปลี่ยนรูปแบบชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชนให้มีความจงรักภักดีต่อชีวิตและวัฒนธรรมของจักรพรรดินิยม และมอมเมาประชาชนด้วยแบบอย่างที่เหลวไหลไร้สาระ เพื่อให้ทุกคนฟุ้งเฟ้อหลงระเริงพอใจอยู่กับความคิดและวิถีชีวิตอันลามกเลวทราม จนลืมนึกถึงความทุกข์ยากและปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของประเทศชาติ”
ถ้าจะนับเวลาจากปีพ.ศ.ที่ “กวีการเมือง” วิพากษ์เพื่อเตือนคนไทยให้เห็นถึงภัยจาก “จักรพรรดินิยม” ไว้ในหลากพื้นที่หลากแหล่ง หรือถ้าเรียกเป็นภาษาในยุคปัจจุบันก็คือในทุก “แพลตฟอร์ม” ที่เขามีโอกาสจะทำได้จนถึงวันนี้ ก็กินเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษเข้าไปแล้ว(ถ้านับจากปีพ.ศ 2498 ก็รวมเวลาได้ 70 ปีพอดี)
ดูเหมือนสถานการณ์ของสังคมไทยวันนี้ ได้แปรเปลี่ยนไปสู่ “คุณภาพใหม่” (ผลผลิตของแผนพัฒนาฯ?)ตามที่ “กวีการเมือง” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” ได้พยากรณ์ไว้แบบที่เรียกได้ว่า “ตรงเป้ะ” จริงๆ!
นั่นคือ สังคมไทยและคนไทยได้กลายพันธุ์เป็น “คนสมัยใหม่ที่บูชาคุณค่าแบบอเมริกา” เป็น “กระแสหลัก” ไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งหมดล้วนเป็นผลจากการไปสมาทานรับเอาระบบ “การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย” ตามแนวคิดของบรรดา “ผู้เชี่ยวชาญ” จากประเทศจักรพรรดินิยม “อเมริกา มหามิตรของคณะรัฐประหาร” ภายใต้การนำของ'จอมพลผ้าขาวม้าแดง “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” โดยตรง!
เรื่องราวของสิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของพุทธศตวรรษ 2500 ซึ่งเป็นปี “กึ่งพุทธกาล” ที่สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา(แบบไทย)ที่ “ห่มคลุม” ความคิด และระบบคุณค่าด้านจริยธรรมของสังคมไทยมาอย่างยาวนานนับพันปี!
แผนแรกเริ่มมีการนำมาปฏิบัติในปีพ.ศ2504 เป็นแผนระยะ 6 ปี แผนระยะที่ 1 นี้ใช้ชื่อว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ยังไม่มีคำว่า “สังคม” เพราะไม่มีเป้าหมายมุ่งเน้นเรื่องการ “พัฒนาคน” มุ่งเพียงต้องการ “พัฒนาผลผลิต” เพื่อเพิ่มสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเรียกกันว่า “จีดีพี.” (GDP.) หรือ “รายได้ประชาติ” เพียงอย่างเดียว
แผนระยะที่ 1 เริ่มจาก พ.ศ.2504 จนถึงพ.ศ.2509
เมื่อรวมระยะเวลาเข้ากับแผนพัฒนาฯระยะที่ 2 ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 5 ปี คือจากพ.ศ.2510-2515 ก็นับเป็นเวลามากกว่า 1 ทศวรรษ คือ 11 ปี
นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ไทยผู้มีชื่อเสียงส่วนใหญ่มักสรุปตรงกันว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯดังกล่าวเริ่มก่อปัญหาหลายประการให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาการทำให้คนในสังคมเริ่มเปลี่ยนคตินิยมจาก “ความพอเพียง” กลายเป็นคตินิยมแบบ “เงินเป็นใหญ่-กำไรสูงสุด” ปัญหาคนรวยกระจุก-คนจนกระจาย ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว( ดิน น้ำ แร่ธาตุ และป่าไม้ )
อีกปัญหาที่นักวิชาาการเห็นตรงกันอย่างสำคัญ จากผลของ “แผนพัฒนาฯ” ดังกล่าวก็คือ การเกิดช่องว่างและความแตกต่างอย่างรุนแรงระหว่างเมืองกับชนบท อันน่าจะกลายเป็น “ปฐมบท” ที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับอาการ “ความล่มสลายของชุมชนชนบท” ในเวลาต่อมา!
ผลงานงานวรรณกรรมทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรองของ “กวีการเมือง” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” ชิ้นสำคัญๆเกิดขึ้นในห้วงเวลาของการเริ่มมีการคิดและเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะที่ 1(ประมาณพ.ศ.2498-2509)นี่เอง!
งานส่วนใหญ่ของ “กวีการเมือง” (โดยเฉพาะในช่วงปลายแผนระยะที่1) มักจะ “โฟกัส” ตรงไปที่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงนั้นอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก คือปัญหาการรุกเข้ามาอย่าง “สามานย์” ของวัฒนธรรมแบบ “จักรพรรดินิยมอเมริกา” บางประการโดยเฉพาะระบบเสรีนิยมทางเพศที่เลวร้ายไม่สร้างสรรค์ในสายตาของเขา
และประการที่ 2 คือปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง(Coruption) ของกลุ่มชนขั้นนำที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมือง(ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มคนหยิบมือเดียวในสังคมไทย)
ตัวอย่างโดดเด่นเป็นรูปธรรมที่สำคัญสุดในเรื่องนี้ “กวีการเมือง” ได้เขียนเจาะจงตรงไปที่ตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้กุมอำนาจรัฐไทยสูงสุด(ประเภท “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”)ในห้วงเวลาดังกล่าว (คือห้วงปีพ.ศ.2500-2506)โดยตรง
เพราะหลังจาก “ท่านผู้นำ” จอมพลสฤษดิ์ฯเสียชีวิตลงในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 โดยได้เสวยสุขในอำนาจรัฐที่ได้มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจอม พลป.พิบูลสงคราม(หนึ่งในหัวหน้าคนสำคัญของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็ระบอบ “ประชาธิปไตย” ในปีพ.ศ.2475 ที่รู้จักกันในนาม “คณะราษฎร์”) เพียงไม่ถึง 6 ปีเต็ม
ก็ถูกหนังสือพิมพ์(ซึ่งเป็นสื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น)เปิดโปงเบื้องหลังการใช้ชีวิต ที่เหลวแหลกและเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นเงินแผ่นดินอย่างมโหฬาร จนท้ายที่สุดศาลก็มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์เป็นของหลวง!
ข้อเขียนของ “กวีการเมือง” เกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยตรงในเรื่องนี้ มีความโดดเด่นยิ่งนักทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คงจะต้องลงให้ถึง “รายละเอียด” อย่างขวาง เพื่อให้เกิดภาพ “เชิงประจักษ์” กันสักหน่อย!!!