ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ท่านผู้อ่านครับ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเยือนภูเก็ตอีกครั้งในรอบหลายปีครับ ครั้งสุดท้ายที่ได้ไปก็น่าจะก่อนโควิดโน้นนน ซึ่งการมาครั้งนี้ก็ต้องบอกว่า น่าประทับใจมากๆครับ เพราะคนเยอะมากกกก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซีย เรียกว่าตอนไปทานอาหารเช้าที่โรงแรมนี่นึกว่าอยู่รัสเซียยังไงยังงั้น ซึ่งแน่นอนครับ ถือว่าเป็นภาพที่บอกว่าการท่องเที่ยวของเรานั้นยังดีอยู่ อย่างไรก็ดีครับ ทริปนี้ก็ยังนำมาซึ่งความรู้สึกอยากถ่ายทอดบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไทยให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน วันนี้ผมเลยอยากชวนคุยเรื่อง “ความยั่งยืน” กับ “การท่องเที่ยวไทย” กันครับ
เมื่อพูดถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” กับการท่องเที่ยว ก็มีอยู่สองเรื่องหลักๆที่อยู่ในใจผมครับ นั่นก็คือ หนึ่ง “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” และ สอง “ความยั่งยืนของการท่องเที่ยว” สองอย่างนี้คืออะไร?
องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้นิยามคำว่า “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่า” หรือ “Sustainable Tourism” เป็น “การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความสมดุลที่เหมาะสม” ยกตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ที่เน้นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) ที่เน้นการจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน เป็นต้น
สาเหตุหลักๆที่โลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เป็นเพราะว่าจริงๆแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มาจากการท่องเที่ยวก็เช่นกัน รวมไปจนถึงในมิติด้านสังคมเช่น การผูกขาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำให้ชุมชนไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภายใต้ปัญหานี้ ก็กลับมีโอกาสด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งรวมไปจนถึงการตัดสินใจในการเลือกที่หมาย โรงแรม หรือแม้แต่กิจกรรมที่จะไปทำ ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ “โอกาส” ที่กำลังมา
เรื่องท่องเที่ยวยั่งยืนต้องชื่นชมประเทศไทยของเราครับ เพราะได้มีการดำเนินการเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) รวมไปจนถึงการพัฒนาแผนการท่องเที่ยวของชาติให้เน้นความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมองลงไปถึงการปฏิบัติ ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะต้องทำให้ผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เข้าใจในความสำคัญ ตลอดจนวิธีการและการลงมือทำอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้เกิดความแพร่หลายและเป็นรูปธรรมของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้น...ไม่ง่าย ซึ่งก็ต้องช่วยกันผลักดันกันต่อไป เพราะเทรนด์กำลังมา ก็ขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่บอกกล่าวเล่าสิบ และสนับสนุนให้ท่านที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวรวมถึงภาครัฐผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจังครับ เพื่อโอกาสของเรา
เรื่องที่สองที่ต้องคุยกันต่อคือ “ความยั่งยืนของการท่องเที่ยว” ครับ
อย่างที่เรียนไปข้างต้น ว่าการท่องเที่ยวนั้น ก็มีบทบาทเป็นผู้ทำลายทรัพยากรและสถานที่ท่องเที่ยวด้วยตัวมันเอง แน่นอนครับ สิ่งนี้หมายถึงทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ ซึ่งหลายสิ่งหากสูญเสียไปแล้วต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู หรือแม้แต่ไม่สามารถฟื้นฟูได้อีกต่อไป ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ปะการัง หรือโบราณสถาน เป็นต้น สิ่งนี้น่ากังวลเมื่อเรามองข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจของไทยร่วมด้วย
ทุกท่านครับ ประเทศไทยของเราเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศครับ ความหมายของคำนี้ในแง่บวกก็ต้องบอกว่า เรามีของดี มีคนให้ความสนใจในประเทศเรา แต่ในด้านลบก็ต้องบอกว่ามีเช่นกัน เช่น หากทรัพยากรเสียหาย หรือเกิดเหตุการณ์อย่างโควิด 19 ขึ้นอีก สิ่งที่ตามมาคือรายได้ที่ลดลงอย่างมหาศาลของประเทศไทย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งโควิด 19 ที่เราก็เจ็บหนักใช่ย่อย นั่นเอง
ดังนั้น หากมองในแง่มุมทางเศรษฐกิจและรายได้ของชาติ “การท่องเที่ยวเป็นตัวเลือกที่ดี หากแต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน” เพราะมีโอกาสเสียหายได้ทุกเวลา
ถ้าถามต่อว่า แล้วเราควรพัฒนาอย่างไร?
เราควรพัฒนาสองอย่างควบคู่กันครับ หนึ่ง คือการพัฒนาช่องทางหารายได้ช่องทางอื่น อย่าพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่มากเกินไป เรียกว่า อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าเพียงไม่กี่ใบนั่นเองครับ ซึ่งควรมองหาสิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้อย่างได้เปรียบและสามารถ “เอาตัวรอด” ได้ในช่วงเวลาวิกฤต การเอาโควิด 19 มาเป็นบทเรียนยังคงมีค่ามากๆในการพัฒนาครับ
สอง คือการพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยอาจต้องใช้กกลยุทธ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนดังที่บอกไปข้างต้น หรือการสร้างความชัดเจนในการทำธุรกิจท่องเที่ยว อะไรทำได้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปจนถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มการท่องเที่ยวใหม่ๆที่มีลักษณะ man made ให้มากขึ้น เช่น สวนสนุก หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่รองรับผู้คนที่รักการเดินทางและทำงานไปด้วย หรือที่เรียกว่า กลุ่ม Digital Nomad ซึ่งปัจจุบันก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก เป็นต้น
เช่นนี้ การท่องเที่ยวไทยอาจจะ “ยั่งยืน” มากขึ้น ทั้งในมิติของการอนุรักษ์ทรัพยากร การรักษาสิ่งแวดล้อม การกระจายรายได้ รวมไปจนถึงในมิติของเศรษฐกิจและรายได้ของชาติ
เอวัง