ทวี สุรฤทธิกุล
เชื่อไหมว่า ในการเมืองไทยมีกลุ่มคนที่ “คอยจ้อง” จะเข้ามามีอำนาจอยู่หลายกลุ่ม เหมือนกับ “ลูกดอก” ที่ “มุ่งเป้า” จะเข้าสู่ “กระดานอำนาจ” ที่มีเพียงวงเดียวนั้น
ไม่กี่ปีมานี้ มีศัพท์ทางรัฐศาสตร์คำหนึ่งที่ถูกกล่าวขานกันมาก คือคำว่า Deep State ที่มีนักวิชาการไทยบางท่านแปลว่า “รัฐพันลึก” ที่มีความหมายว่า สภาวะในทางการเมืองที่ถูกครอบงำด้วยกลุ่มชนชั้นนำที่ “หลากหลาย ลึกลับ และซับซ้อน” (อันนำมาซึ่งคำแปลที่ว่า “พันลึก”) โดยคนเหล่านี้จะเข้ามีอำนาจเหนือคนและองค์กรทางการเมืองที่เป็นทางการ โดยเฉพาะอำนาจที่อยู่เหนือรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งมีอยู่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจ๋า อย่างสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทยก็เชื่อกันว่ามีสภาวะของความเป็น Deep State นั้นอย่างชัดเจน โดยมองว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับรูปแบบการปกครองที่เป็นอยู่ ที่เรียกว่า “อำมาตยาธิปไตย” ที่ในสมัยก่อนจะหมายถึง ผู้นำทหารและข้าราชการระดับสูง และในสมัยต่อมาก็รวมหมายถึงนักธุรกิจและผู้ใกล้ชิด “ระดับสูง” ที่มีอิทธิพลเหนือนักการเมือง จนกระทั่งสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในการบริหารประเทศได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้เขียนได้ติดตามศึกษาความเป็นอำมาตยาธิปไตยของไทยมาในระดับหนึ่ง มีข้อสังเกตว่า นอกจากจะมีการเพิ่มเติมของกลุ่มคนที่เข้ามามีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา ที่แต่เดิมจะมีแต่ผู้นำทหารและข้าราชการระดับสูง แล้วต่อมาก็เพิ่มพวกนักธุรกิจและคนที่ใกล้ชิดระดับสูงเข้าไป อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้นั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงใน “วิธีการและเป้าหมาย” อีกด้วย
จากประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรหวังเป็นอย่างมากว่า พวกเขาจะสามารถมีอำนาจเหนือกลุ่มพลังทางการเมืองเก่า คือพวกเจ้าและข้าราชการนั้นได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ คณะราษฎรก็ยังต้อง “หวั่นเกรง” กลุ่มอำนาจเก่านั้นอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการไปเชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ข้าราชการในระบอบเก่ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อประสาน
ประโยชน์กันให้เป็นที่วางใจของกลุ่มอำนาจเก่านั้น รวมถึงที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างโหดร้าย อย่างที่เขียนขู่ไว้ในแถลงการณ์ของคณะราษฎร
เหตุการณ์ที่ยืนยันว่ากลุ่มอำนาจเก่ายังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในการเมืองการปกครองไทยก็คือ กระแสการเรียกร้องให้ปกป้องพระมหากษัตริย์ ภายหลังการสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 อันนำมาซึ่งการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เคยร่วมอุดมการณ์และเป็นแกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร ก็ต้อง “กลับใจ” มาเทิดทูนและปกป้องพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นครั้งแรกว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” รวมถึงที่ทหารเองก็มีความพยายามอย่างมากในการที่จะให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย โดยเฉพาะการขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ได้ชื่อว่ามีความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง และทำให้ทหารกับพระมหากษัตริย์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเวลาต่อมา
การรัฐประหาร 2490 นี่เองที่นำมาซึ่งสภาวะการเมืองแบบ “รัฐมุ่งเป้า” ด้วยมีเป้าหมายที่จะเทิดทูนและปกป้องพระมหากษัตริย์เป็นเบื้องต้นดังกล่าว ทั้งนี้เราไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่า ในการรัฐประหารทุกครั้ง นอกจากเพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นปัญหาของประเทศในขณะนั้นแล้ว ยังมีจุดมุ่ง หรือ “เป้า” เพื่อการพิทักษ์และค้ำจุนราชบัลลังก์นั้นด้วย จนกระทั่งในการรัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่มีข้อมูลว่ามีกลุ่มทุนบางกลุ่มเข้ามาให้การสนับสนุนกลุ่มนายทหารที่ทำการยึดอำนาจ กลุ่มคนที่เรียกว่าอำมาตย์นี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีนักธุรกิจเข้ามาร่วมใช้อำนาจด้วยนี่เอง
ความจริงนักธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาร่วมใช้อำนาจในระดับบน และกลายเป็น “ระดับสูง” ในกระบวนการ “รัฐมุ่งเป้า” ในเวลาต่อมานี้ เชื่อกันว่าเกิดมาตั้งแต่ในยุคหลังวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 นั้นแล้ว เพราะภายหลังจากที่ทหารต้องหลบไป “เลียแผล” ก่อนที่จะกลับมามีอำนาจด้วยการทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 นั้น กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ปกครองประเทศหลังการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2518 ต่างก็เป็นตัวแทนหรือไม่ก็รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ นั้นอยู่แล้ว ที่สำคัญก็มีนักธุรกิจหลายคนเข้ามาสมัครเป็น ส.ส. รวมถึงผู้บริหารของพรรคการเมืองต่าง ๆ อันทำให้นักธุรกิจเหล่านั้นเข้ามาใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจเก่า คือทหารและข้าราชการนั้นด้วย ในทำนองเดียวกัน เมื่อทหารกลับเข้ามามีอำนาจอีกภายหลังรัฐประหาร ๖ ตุลาคม 2519 นักธุรกิจทั้งหลายนี้ก็หันไปสนับสนุนทหารและข้าราชการที่ขึ้นมามีอำนาจนั้นอีก
โดยมีข้อมูลว่านักธุรกิจบางคน “เล่นพนัน” ว่า นายทหารคนใดจะขึ้นสู่อำนาจในระดับสูง ๆ ต่อไปบ้าง โดยเฉพาะผู้บัญชาการในเหล่าทัพต่าง ๆ แล้วก็หันไปสนับสนุนนายทหาร “ดาวรุ่ง” เหล่านั้น
“การแทงลอตเตอรี่ทหาร” เห็นได้อย่างชัดเจนในในตอนที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมามีอำนาจแทนพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในปี 2523 ซึ่งการเล่นพนันในชั้นบนของอำนาจนี้เอง ที่ทำให้ทหารเองก็มีปัญหา นั่นก็คือการชิงดีชิงเด่นกัน ระหว่างนายทหาร จปร.5 กับ จปร.๗ โดยไม่มีแต่จะ “แย่งนาย” กันแล้ว ยังมีการ “แย่งผู้สนับสนุน” จากนักธุรกิจกลุ่มต่าง ๆ นั้นด้วย แน่นอนว่านักธุรกิจเองก็ไม่เสี่ยงที่จะเลือกข้างให้ชัด ๆ เพราะเลือกที่จะสนับสนุนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เหมือนครั้งที่เคยสนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้นอยู่ด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้การเมืองไทย “เลวร้าย” ไปยิ่งกว่าเดิมก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง ทหาร (รวมถึงข้าราชการ) นักการเมือง และนักธุรกิจ ในรูปแบบนี้ ได้ก่อให้เกิดการแบบ “ถอนทุนและซื้อขายตำแหน่ง” โดยเฉพาะทำให้เกิดระบอบธนาธิปไตย ที่ระบาดหนักอยู่ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมานั้นอีกด้วย
พัฒนาการของ “รัฐมุ่งเป้า” มีความรุนแรงมาก ด้วยเหตุที่ทหารที่แต่เดิมมีหน้าที่หลักในการปกป้องราชบัลลังก์ แล้วภายหลังต้องมา “หาสปอนเซอร์” ที่สุดคือไป “เกลือกกลั้ว” กับนักการเมือง ยิ่งทำให้ทหารนั้นเองต้องมา “แก้ตัว” ด้วยการทำรัฐประหารอยู่ร่ำไป อย่างที่ต้องมาทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 และ 2557 ก็เพื่อจะกำจัดระบอบทักษิณ แต่แล้วในการเลือกตั้งปี 2566 ก็ต้องมา “ดีด้วย” กับระบอบทักษิณนี้อีก
การ “เอาพิมเสนมาแลกกับเกลือ” แบบที่ทหารทำมา 40 กว่าปีนี้นี่แหละ จะทำให้การเมืองไทยยังคงวนเวียนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” นี้ต่อไป ซึ่งจะเกิดอย่างไร แล้วจะมีผลอย่างไร คงต้องไปเฉลยสัปดาห์ห์