การพัฒนาประเทศไทยตามทฤษฎีทุนนิยมตะวันตก นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่งจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของการใช้ทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม กลุ่มที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ก็จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสใช้ทรัพยากรได้มากกว่าโดยมีกฎหมาย หรือกฎระเบียบรองรับ ผู้ที่มีทุนสูง เทคโนโลยีสูง มีระบบข้อมูลข่าวสารที่ ดีกว่า มีอิทธิพลต่อกลไกขององค์กรระหว่างประเทศ ในระดับโลก ประเทศไทยก็ถูกเอาเปรียบด้านการใช้ทรัพยากรจาก “มหาอภิทุนสากล” ในระดับประเทศ คนชั้นล่างของไทยก็ถูกเอาเปรียบด้านการใช้ทรัพยากรจาก “ทุน” และรัฐไทย “การพัฒนา” นั้นย่อมมีผลสองด้าน ด้านดีคือสร้างโภคทรัพย์ ด้านร้ายคือโภคทรัพย์นั้นตกอยู่ในมือคนจำนวนน้อยนิด ขณะที่ทรัพยากร ดิน-น้ำ สภาพแวดล้อม , สภาพชุมชน , วัฒนธรรมชุมชน ถูกทำลายไป แลกกับรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่นั้นที่อาจเพิ่มขึ้นเพียงนิดหน่อย มันเป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อนับจำนวนของคนที่ได้รับผลพวงเป็นประโยชน์จากการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำในสังคมทวีสูงขึ้น แม้ปริมาณ “คนจน” ตามข้อกำหนดอย่างกลไกโดยรัฐ จะมีตัวเลขน้อยลงก็ตาม รูปธรรมของการใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมไม่ปรากฏให้เห็นในตัวเลขแสดงอัตราการเติบโตทาง เศรษฐกิจ ตัวเลขแสดงผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเบื้องต้น (Gross National Product หรือ GNP ) ก็ไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงแต่ประการใด แต่ตัวเลขของประชาชนผู้ไร้ที่ทำกินต้องอาศัยอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติฯ เกินกว่าสิบล้านคนก็ดี ตัวเลขหญิงโสเภณีและรวมทั้งผู้ชาย และเยาวชนที่ต้องต้องดำรงชีพด้วยการขายบริการทางเพศ จำนวนกว่าล้านคนก็ดี เพียงสองตัวอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมของความเป็นธรรม ชุมชนชนบท ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมทุกๆ สังคมไม่ว่าสังคมอุตสหกรรมหรือสังคมเกษตร ชุมชนชนบทเหล่านี้ กำลังประสบกับภาวะวิกฤตทั้งๆ ที่หากพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้ว ชุมชนคือชุมชนที่เคยทำบทบาทที่เป็นคุณูปการต่อมนุษยชาติมาโดยตลอด กล่าวคือเป็นชุมชนที่ทำการผลิตธัญญาหารเลี้ยงดูมนุษย์ทุกหนแห่ง เป็นส่วนของสังคมที่ทำหน้าที่ “เลี้ยงดู” (nurturing) มวลมนุษยชาติ บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และมีความสอดคล้องกับธรรมชาติ และเป็นชุมชนที่ผู้คนยังปฏิบัติต่อกัน และกันในฐานะที่เป็นคนที่เท่าเทียมกัน ผลของการพัฒนาของโลกและ ของประเทศไทยเราได้ทำลายชุมชนลงไปในทุก ๆ ด้าน รัฐและ “ทุน” นึกจะใช้ทรัพยากรในพื้นที่ใด ๆ ก็บีบบังคับเอาได้ ด้วยข้ออ้างเรื่อง “การพัฒนา” เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ (ทรัพยากรส่วนรวมของประเทสและยังเป็นกรรมสิทธิ์ของพลเมือง)มาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษและโรงงานผลิตพลังงาน รุกคืบอย่างรวดเร็วรุนแรง จะสร้างความขัดแย้งขยายตัวไปทั่วทุกภูมิภาค