สถาพร ศรีสัจจัง
“@ ถึงยุคทมิฬ มาร จะครองเมืองด้วยควันปืน
ขื่อแปจะพังครืน และกลิ่นเลือดจะคลุ้งคาว
แต่คนย่อมเป็น ในสายธารอันเหยียดยาว
คงคู่กับเดือนดาว ผงาดเด่นในดินแดน…”
“กาพย์ยานี” 2 บทของ “กวีการเมือง” ซึ่งเป็นที่เปิดเผยแล้วว่าเป็นนามปากกาของ “จิตร ภูมิศักดิ์” กวี นักปฏิวัติ และนักวิชาการคนสำคัญของสังคมไทย ที่ยกมาโปรยนำหน้าเรื่องราวไว้นี้ เป็นเพียงท่อนสั้นๆท่อนหนึ่งที่ตัดมาจากกวีนิพนธ์ขนาดยาว “ชิ้นเอก” ของเขา เรื่อง “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา” ซึ่งเคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยช่วงปีพ.ศ.2507 (ก่อนเข้าป่า)หลัง “จอมพลผ้าขาวม้าแดง”สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สมุนของจักพรรรดินิยมอเมริกาเพิ่งเสียชีวิตลง(ธันวาคม 2506)
เสียชีวิตลงพร้อมกับการถูกยึดทรัพย์ในข้อหาคอร์รัปชันและถูกสื่อมวลชนยุคนั้นเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามระหว่างครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอย่างล่อนจ้อน
แต่เรื่องที่ฮือฮาที่สุด น่าจะคือเรื่องการใช้บ้านพักส่วนตัวในค่ายทหารเป็น “ฮาเร็ม” ในการปฏิบัติ “ภารกิจ” กับบรรดา “เมียน้อย” หรือ “เมียเก็บ” ที่มักจะเป็นสาวสวยประเภท “นางงาม” หรือ “ดารา”
แทบจะทั้งสิ้น
บทกวีขนาดยาวเรื่อง “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพฯ” ของ “กวีการเมือง” นี้เขียนขึ้นพร้อมๆกับบทกวีอีกหลายเรื่อง ในนามปากกาเดียวกัน มีเนื้อหาเชิงวิพากษ์สังคมที่คล้ายกัน และได้รับการตีพิมพ์ในห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน
เช่นเรื่อง วิญญาณสยาม/คาวกลางคืน/เนื้อนมไข่ และคำเตือนจากเพื่อนเก่า เป็นต้น ซึ่งบางตอนของบางเรื่องจะได้นำมายกตัวอย่างในการเขียนเรื่อง “ยุคทมิฬ” ครั้งนี้ด้วย
ที่จริงคำ “ยุคทมิฬ” ของ “กวีการเมือง” ในบทกวีที่ยกมานี้ มีนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ไทยใช้มาก่อนหน้านั้นแล้วหลายคน ที่สำคัญคือ “อิศรา อมันตกุล” นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นนามอุโฆษยุคเดียวกับ “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประเดิษฐ์” แม่ทัพใหญ่ฝ่ายวรรณกรรมยุคใหม่ของไทยและร่วมยุคกับ “กวีการเมือง”หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” อีกด้วย
ตามประวัติ บทกวีขนาดยาวชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในวารสาร “เศรษฐกร” ในช่วงปีพ.ศ.2514
ภายหลัง “นิสิต จิระโสภณ” แห่งกลุ่มแนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำผลงานกวีนิพนธ์ชุดดังกล่าวนี้มาจัดพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือขนาด “พ็อกเกตบุ๊ก” ในชื่อ “รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปะของกวีการเมือง” ขึ้น ในปีพ.ศ.2517(หลังเหตุการณ์ “การลุกขึ้นสู้ใหญ่ 14 ตุลาคม 2516”)
ที่นำกาพย์ท่อนนี้มาเชิดชูไว้เป็นเบื้องต้นก็เพราะเห็นว่าเข้ากับสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบันที่ประเทศ “จักรพรรดินิยมอเมริกา” ซึ่ง “จิตร ภูมิศักดิ์” ถือว่าเป็นศัตรูตัวสำคัญที่สุดของเขา (คู่กับ “วัฒนธรรมศักดินา” ในสังคมไทย) กำลังก่อเหตุให้เกิดสงครามใหญ่ขึ้นในโลก จนจะนำโลกเข้าสู่ “ยุคทมิฬ” หรือ “กลียุค”หรือ “ทุรยุค” อยู่พอดี
แม้เนื้อหากวีนิพนธ์ชิ้นนี้ของ “กวีการเมือง” จะมุ่งเพียงเพื่อบันทึก และ “ตีกระหน่ำ” ความชั่วร้ายของสมุนจักรพรรดินิยม ที่ทำให้เมืองไทยในยุคที่ท่านมีชีวิตอยู่ต้องเป็น “ยุคทมิฬ” เท่านั้นก็ตาม
แต่ย่อมเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า “กวีนักปฏิวัติ” และ นักวิชาการคนสำคัญท่านนี้ เกลียดชังความอยุติธรรมทางสังคมและอำนาจอันไม่เป็นธรรมของชนชั้นปกครองที่ “หลอกลวงและปราบปราม”ประชาชนคนข้างมากตลอดมาอย่างไร
และที่สำคัญไปยิ่งกว่าก็คือ ทรรศนะแบบ “มนุษยนิยม” (Humanism) ที่เชื่อมั่นในคุณค่าและศักดิ์ศรีของ “มนุษย์” ว่า “ไม่มีทางที่ผู้ใดจะทำลายลงได้อย่างแท้จริง” ที่มีปรากฏอยู่มากมายอยู่ในงานกวีนิพนธ์ชุดดังกล่าวนี้นั้น
เป็นสิ่งที่ควรหยิบยกมาแสดงยืนยันเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำลายล้างมนุษยชาติที่บรรดาจักรพรรดินิยมทั้งหลาย-โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากำลังทำกันอยู่
เฉพาะในงานเรื่อง “โครงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพฯ” ที่ยกมาในตอนต้นนี้ ก็มีทรรศนะเช่นที่ว่าสะท้อนให้เห็นอยู่หลายตอนด้วยกัน เช่น “แต่คนย่อมเป็น/ในสายธารอันเหยียดยาว” หรือ “แต่คนย่อมเป็นคน/บ่ใช่ควายที่โง่งึม” หรือ “เมื่อนั้นแหละคนนี้/จะยืดตัวให้หยัดตรง/ประกาศอย่างอาจอง/ “กูใช่ทาสหากคือไทย”…” หรือ “แต่คนย่อมเป็นคน/ถึงยากจนแต่รวยใจ” หรือ “กู้คนพ้น/พวกผี” เป็นต้น
ประเด็นเรื่อง “ความมีศรัทธาและเชื่อมั่นในมนุษย์” ว่า “เป็นขุมพลังที่แท้จริง” และ “ทำลายไม่ได้”ซึ่งเป็นทรรศนะพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญยิ่งของกวีผู้ยิ่งใหญ่นาม “กวีการเมือง” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” นี้ นับเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง
ที่คงจะต้องหยิบยกมาพูดถึงและอภิปรายควบคู่ไปกับประเด็นอื่นๆที่ปรากฏด้วย
โดยเฉพาะเพื่อจะขยายความหวังและให้กำลังใจแก่มนุษยชาติผู้รักความถูกต้องเป็นธรรมและรัก “สันติภาพ” ทั้งหลาย ว่า “ยุคทมิฬ” ที่บรรดาจักรพรรดินิยมและสมุน(โดยเฉพาะชนชั้นปกครองและนายทุนนายหน้าส่วนใหญ่ในแต่ละรัฐชาติปัจจุบัน)ก่อขึ้นนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว,จะต้องถูกทำลายลงโดยพลังของประชาชนคนข้างมากในโลกอย่างแน่นอน!!!!