ปักธงกันเอาไว้ได้เลยว่า ในการประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 13-14 ก.พ.68 บรรยากาศ ส่อเค้าว่าจะดุเดือด แม้จะเป็นห้วงเวลาของวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรักก็ตามที 

 เนื่องจากในช่วง 2 วันดังกล่าว จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”  หรือส.ส.ร. โดยเป็นร่างของพรรคประชาชน และร่างของพรรคเพื่อไทย 
 แต่ปรากฏว่าตลอดหลายวันที่ผ่านมานี้ ยังไม่ทันที่ ทั้งสส.และสว. จะร่วมประชุมเพื่อพิจารณาวาระสำคัญ กลับมี “สัญญาณ” จากสว., อดีตสว. ไปจนถึงพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ฟันธงตรงกันว่า “ผ่านได้ยาก” หรือ “แทบเป็นไม่ได้เลย” 

 อย่าลืมว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมานั้นทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ในเวลานั้นต่างชูนโยบายของพรรคเหมือนกันว่าจะต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการรื้อ และโละ “รัฐธรรมนูญฉบับคสช.” ให้ได้ บ้างก็ว่าเป็นมรดกบาปที่ถูกทิ้งเอาไว้ เหมือนเป็น “กับดัก” ที่ทำให้ “ฝั่งตรงข้าม” ขยับอย่างใดอย่างหนึ่ง แทบไม่ได้เลย ดังนั้นจึงไม่มีทางอื่น 

 วันนี้ เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ปิดจบกันตั้งแต่ยังไม่ทันได้เปิดฉาก “รบ” กันในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยซ้ำเมื่อ พรรคประชาชนเหมือนสู้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ออกอาการขึงขังเตรียมพร้อม มิหนำซ้ำ “พริษฐ์ วัชรสินธุ”  แกนนำพรรคประชาชน ต้องเรียกร้องให้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีให้ชัดเจน มากกว่าที่เป็นอยู่ 

 ขณะที่สส.ของพรรคเพื่อไทย บางส่วน ทั้ง “ก่อแก้ว พิกุลทอง” สส.บัญชีรายชื่อ เองต้องออกมาตีโต้จี้ให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” บางพรรคถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลไปเลย หากไม่หนุนพรรคเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ 
 อย่างไรก็ดีวันนี้ทั้งพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ที่ต่างมีเป้าหมาย “โละมรดกคสช.” คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 แต่ยังต้องเจอกับแรงต้านจาก สว.เพราะอย่าลืมว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะผ่านการพิจารณา ต้องได้เสียงจากสว. “68 เสียง” และในเมื่อ สว.กว่าครึ่งค่อนของสภาสูง ล้วนอยู่ในมือของ “พรรคสีน้ำเงิน” อย่าง พรรคภูมิใจไทย เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทย และพรรคสีส้ม กำลังเจอกับโจทย์ยาก 

 ยังไม่นับว่าทั้งสส.และสว. จะกล้าฝ่าด่านเห็นชอบด้วยหรือไม่ ในเมื่อ วันนี้มีการถกเถียงกันว่า “ รัฐสภา” สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ จะต้องไปทำประชามติ ถามความเห็นจากประชาชนก่อนหรือไม่ เพราะถ้ายังดึงดันเดินหน้า โดยที่ยังไม่มีการทำประชามติก่อน จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

 นอกจากนี้อย่าลืมว่า เมื่อร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ  จากพรรคประชาชนในฐานะฝ่ายค้าน และพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ย่อมทำให้ “ทุกพรรคการเมือง” มีอิสระในการ “ตัดสินใจ”  เท่ากับว่า อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ล้างมรดกคสช.” ดูจะเกิดขึ้นได้ยาก !