ทวี สุรฤทธิกุล พลเอกประยุทธ์อาจจะวืดเก้าอี้นายกฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ “ตัวการสำคัญ” คือ “สมาชิกวุฒิสภา” ที่มีข่าวว่าอาจจะมีการ “เล่นตัว” และ “โก่งราคา” จนทำให้การตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดคิด ขณะนี้ในความคิดของคนที่มองการเมืองอย่าง “ลึกๆ” มองว่า สภาผู้แทนราษฎรนั้น “ไร้ค่า” หรือไม่ต้องไปให้ความสำคัญมากนัก ประการแรก ค่อนข้างจะแน่นอนว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.จะไม่ได้ ส.ส.เข้ามาเป็นเสียงข้างมาก ทำให้การเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในฝ่ายที่มี คสช.หนุนหลัง ที่เห็นตัวอยู่แล้วว่าคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นี้น่าจะเป็นไปได้ยาก จำเป็นจะต้องใช้วุฒิสภามาร่วมเสนอจึงจะเอาชนะได้ ประการต่อมา ที่เราเห็นว่ามีอดีตนักการเมือง “ใหญ่ๆ ดังๆ” มาเข้าด้วยกับพรรคที่สนับสนุน คสช. ก็เป็นเพราะเขาต้องการ “ลดความเสี่ยง” ซึ่งไม่ใช่แค่การมาอาศัย “อำนาจรัฐ” เพื่อเอาชนะเลือกตั้ง หรือหวังจะได้มีตำแหน่งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง แต่เพื่อที่จะ “ประหยัดค่าใช้จ่าย” เพราะจะสามารถใช้ “เงินกงสี” ที่ว่ากันว่ามีการตั้งเป็น “กองทุนเพื่อการเลือกตั้ง” ให้ผู้สมัครได้ใช้จ่ายอย่างไม่อั้น ส.ส.เหล่านี้จึงเป็นแค่ “เบี้ย” ตัวหนึ่ง ที่ไม่กล้าจะ “หือ” เอากับผู้ให้เงินนั้นอยู่แล้ว (บ้างก็ว่าที่อดีต ส.ส.เหล่านั้นไม่กล้าลงทุน ก็เพราะสภาชุดนี้น่าจะอยู่ได้ “ไม่นาน” เนื่องจากจะประสบปัญหา “วุ่นวาย” หลังการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก) อีกประการหนึ่ง ผู้มีอำนาจก็จะจะ”พอรู้” ว่านักการเมืองคือ ส.ส.ทั้งหลายนั้น “ไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้” แบบที่เรียกว่า “เลี้ยงไม่เชื่อง” แม้จะ “ขุน” หรือเลี้ยงดูเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม และยิ่งไปยอมหรือตามใจ “เอาอกเอาใจ” มากไป ก็อาจจะ “สิ้นเปลือง” อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะนักการเมืองเหล่านี้จะมีแต่ “เรียกร้อง” อย่างไม่จบสิ้น โดยเฉพาะในการเสนอกฎหมาย ที่จะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องจ่าย “ค่ายกมือ” และซื้อ “น้ำมันหล่อลื่น” อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้มีอำนาจจึงต้อง “โฟกัส” ไปที่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะมีปัญหาค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน ประการแรก ต้องคิดหาคนที่จะมี “ความภักดี” ต่อผู้มีอำนาจอย่างมั่นคง ซึ่งน่าจะหาได้ยาก แม้ว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากทหารและข้าราชการ (รวมถึงกลุ่มทุนในเครือข่ายของผู้มีอำนาจ) แต่ก็เคยเกิดปรากฏการณ์ “เปลี่ยนใจ” มาแล้ว ดังที่เกิดขึ้นในวุฒิสภาเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่สมาชิกวุฒิสภากว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นทหารและข้าราชการ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วผู้นำในกองทัพ ร่วมกับ “กระแส” ความต้องการเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล วุฒิสภามี่เชื่อว่ามีระบบ “เพื่อนพ้องน้องพี่” ที่ “แข็งปั๋ง” ก็ “เปี๊ยนไป” แม้แต่ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรที่เคยหนุนทหารก็ช่วยอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็มีคนแย้งว่าวุฒิสภาชุดนี้ให้มีตำแหน่งข้าราชการประจำได้เพียง 6 คนเท่านั้น คือทหาร 5 และตำรวจ 1 แต่นั่นก็จะยิ่งแย่ไปอีก เพราะขนาดมีตำแหน่งในหน้าที่ราชการ “ค้ำคอ” ก็ยัง “ดึงไม่อยู่” แล้วนี่ถ้าจะใช้ข้าราชการเกษียณก็จะยิ่งมีความเสี่ยง เพราะคนเหล่านี้จะไม่ยอม “ลากไถ” ให้กับผู้มีอำนาจที่มีปัญหาเรื่อง “ความไม่ชอบธรรม” นั้นได้นานนัก ประการต่อมา จากการที่สมาชิกชุดที่กำลังจะแต่งตั้งนี้ “รู้ดี” ว่า พวกตนมีราคาสูงมาก เพราะมีอำนาจตั้งแต่การตั้งนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการค้ำจุนรัฐบาล ดังนั้นผู้มีอำนาจก็จำเป็นจะต้องเอาใจและเลี้ยงดูสมาชิกวุฒิสภาให้ดีเสียยิ่งกว่าเลี้ยงดู ส.ส.เสียอีก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลก็จะประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับในยุคที่อาศัยสภาผู้แทนราษฎรค้ำจุน ซึ่งนั่นก็หมายถึงความวุ่นวายแบบ “จับปูใส่กระด้ง” ที่รัฐบาลจะต้องคอย “กวาดต้อน” ให้อยู่ภายใต้การควบคุม ที่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนด้วย “ผลประโยชน์ต่างๆ” ภายใต้เสียงเรียกร้องที่แม้ว่าอาจจะไม่ “โหวกเหวก” เหมือน ส.ส. แต่ก็จะเป็นเสียงร้องที่น่ารำคาญและ “โหยหวน” ยิ่งนัก ประการสุดท้าย วุฒิสภาชุดที่กำลังจะแต่งตั้งนี้จะมีสภาพแบบ “ปลาหลายน้ำ” คือมีทั้งข้าราชการโดยตำแหน่ง(ที่แสนใหญ่โต) ข้าราชการเกษียณ(ที่เคยใหญ่โตและเป็นรุ่นพี่ที่เคยเลี้ยงดูพวกข้าราชการโดยตำแหน่งนั้นมาก่อน) พ่อค้านายทุน(ที่ร่วมอิงแอบและมีบุญคุณต่อข้าราชการทั้งสองพวก) ผู้ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ(ที่น่าจะวางก้ามไม่ให้คนดูแคลนไปถึงเจ้านาย) และพวกที่มาจากกลุ่มประชาชนต่างๆ (พวกนี้มี 50 คน ที่มาจากการเลืกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอมาจนถึงระดับชาติ ซึ่งแม้ว่าจำเป็นต้อง “สำนึกบุญคุณ” ต่อผู้มีอำนาจที่เป็นคัดเลือกมาในรอบสุดท้าย แต่บุญคุณนั้นก็ไม่น่าจะยั่งยืน เพราะพวกนี้ก็จะลำพองว่าผ่านขั้นตอนต่างๆ มาอย่างยากลำบาก และที่สำคัญคนเหล่านี้ก็ไม่อยากให้คนทั้งหลายมองว่าเป็น “ขี้ไก่” จึงน่าจะต้องแสดงพลังอำนาจอะไรออกมาบ้าง เพื่อไม่ให้เป็น “ส.ว.ที่โลกลืม”) จึงน่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างลำบาก โดยสรุปก็คือ สมาชิกวุฒิสภาชุดที่กำลังจะแต่งตั้งนี้จะมีการ “เล่นตัว” เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาพการณ์ที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถ “พึ่งพิง” ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยเฉพาะสภาพที่เป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ที่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ซึ่งก็จะถูกสังคม “โจมตีประณาม” จน “ไปไม่เป็น” ที่สุดก็จะเกิดกระแส “ไม่เอาบิ๊กตู่” จนเป็นกระแส “เปลี่ยนตัวนายกฯ แล้วสมาชิกวุฒิสภาก็ “จำเป็น” จะต้อง “เปี๊ยนใจ” อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อปี 2523 นั้น ขอให้ “คุณพระคุณเจ้า” คุ้มครองพลเอกประยุทธ์ด้วยเถิด