ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
“เอาอีกแล้ว เป็นแบบนี้ทุกที พอใกล้ปีใหม่ก็ประลองกำลังกัน” “แล้วคิดว่าเป็นฝีมือใคร” “รู้ๆ กันอยู่” เมื่อสิ้นสุดประโยคเหล่านี้ นับจากนั้นวงพูดคุยกลับตกอยู่ในอาการสงบ คู่สนทนาได้แต่มองตากันเลิ่กลั่ก ปล่อยให้ความเงียบนำพา
คำสนทนาข้างต้น เกิดขึ้นขณะผู้เขียนนั่งอยู่ในวงสนทนาวงใหญ่กับมิตรสหายหลายคน วงรอบของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งค่อนข้างเงียบสงบไปพักใหญ่ จะมีก็แต่สิ่งที่สื่อเรียกว่า “การประคองสถานการณ์ให้คงอยู่แบบประปราย” กระทั่งก่อนสิ้นปี 2561 กลับเกิดเหตุไม่สงบอีกครั้ง หลายครั้ง หลายจุด ทั้งยิง เผา วางระเบิด ปาระเบิดใส่ ปะทะ ฯลฯ
ผ่านมา 14 ปีนับจากเกิดเหตุ “ไฟใต้” รอบใหม่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มาปีนี้ 2562 นับว่าสถานการณ์ความไม่สงบย่างเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว คำว่า “รู้ๆ กันอยู่” สำหรับผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังคง “ตีความ” ได้หลายนัยยะ
บ้างพุ่งเป้าไปเรื่องการสร้างสถานการณ์ของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” บางคนบางฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่ถืองบประมาณ “ดับไฟใต้” อยู่ในมือจำนวนมหาศาล เพราะความสงบหรือความถี่ของการเกิดเหตุการณ์ ย่อมผูกติดผกผันอยู่กับการใช้ “งบประมาณ” ไปด้วย เรื่องเล่าขานในลักษณะนี้ละเอียดอ่อนมาก เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนหนึ่งจะคิดเช่นนั้น
บ้างพุ่งเป้าไปที่ “ขบวนการผู้เห็นต่าง” โดยตรง เพราะต้องการสำแดง “อำนาจนอกระบบ” ที่ยังคงมีอยู่บนเส้นทางต่อสู้ หลังการพูดคุยสันติสุขมีการพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปมาก ตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และการเปลี่ยนตัวบุคคลที่มานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพูดคุย ทั้งฟากรัฐบาลไทยและมาเลเซีย
ส่วนเรื่องของ ขบวนการค้ายาเสพติด ปัญหาการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ ล้วนแล้วถูกผูกปมเหมารวมอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบเป็นหลายครั้งเช่นกัน
ในความ “กดดัน” และ “เบื่อหน่าย” ของประชาชนชายแดนใต้ จึงได้แต่รอคอยให้เกิดความสงบอย่างแท้จริง ถึงที่สุดแล้วความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าจับตามองในปี 2562 คือ “กระบวนการพูดคุยสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งฝั่งมาเลเซีย หลังรัฐบาลชุดใหม่โดย มหาเธร์ โมฮัมหมัด จัดการปลด ดาโต๊ะสรีอาหมัด ซัมซามิน อาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นคนของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก พร้อมแต่งตั้ง ตันศรี อับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย เป็น หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างผู้เห็นต่างและรัฐบาลไทย คนใหม่ ฝ่ายมาเลเซีย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561
สำหรับฝ่ายไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จาก พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 หนึ่งในผู้แทนพิเศษรัฐบาล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 255/2561 เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแต่งตั้งให้ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เราต้องเอานโยบายของรัฐบาลเป็นหลักการในการพูดคุยสันติสุข เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในทุกประเทศก็ใช้วิธีการนี้ พูดคุยแต่ไม่ใช่เป็นการเจรจาสันติภาพ เราไม่ได้รบกับใคร เป็นการพูดคุยทำอย่างไรคนในพื้นที่จะร่วมมือกัน ทำอย่างไรจะไม่ไปร่วมกับผู้ก่อเหตุรุนแรง ทำอย่างไรจะแจ้งเจ้าหน้าที่ ทำอย่างไรจะสร้างความเข้มแข็งในชุมชนของตนเอง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำหลักการสำคัญในการพูดคุย
ทั้งนี้ หลังมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ไทย-มาเลเซีย เดือนตุลาคม 2561 สองฝ่ายได้พูดคุยและวางแผนการสร้างความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกันเพื่อให้เป็นผลในทางปฏิบัติ หลังกระบวนการพูดคุยดำเนินกันมาร่วม 6 ปีแล้ว โดย พล.อ.อุดมชัยฯ เน้นย้ำถึงแนวทางที่จะดำเนินการ คือ การพูดคุยกับทุกกลุ่มที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาลไทย แต่ไม่ได้กล่าวถึง “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดในการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการไม่สงบเป็นการเฉพาะ ส่วน อับดุล ราฮิม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า นอกจากจะให้ความสำคัญกับฝ่ายไทยแล้ว ยังตั้งใจสื่อสารกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งในระดับกลาง และ “ระดับนิยมความรุนแรง” อีกด้วย
ก่อนสิ้นปี 2561 ไม่กี่วัน การประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ณ อาคารสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ลมช.)/ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพูดคุยเพื่อสันติสุข (ผอ.สล.คพส.) เป็นประธานการประชุม สล.คพส. ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก หลังมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 327/2561 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2561 เพื่อชี้แจงนโยบายและกำหนดแนวทางการทำงานของคณะพูดคุยฯ โดยมี พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ พร้อมด้วยคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ชุดใหม่ ร่วมประชุมเต็มคณะ
การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2562 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ. อุดมชัยฯ จะให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง และกลุ่มผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม (Inclusiveness) และเน้นการออกแบบกระบวนการพูดคุยให้เป็นที่ยอมรับของทุกกลุ่ม ภายใต้พื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรี ให้เกียรติ จริงใจ และปลอดภัย เพื่อวากรากฐานความไว้วางใจและสร้างกระบวนการสันติสุขอย่างยั่งยืน คณะพูดคุยฯ เต็มคณะ มีกำหนดแถลงข่าวชี้แจงแนวทางการทำงานและตอบข้อซักถามอย่างละเอียดต่อสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในพื้นที่ วันที่ 9 มกราคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี)
ปี 2562 จึงเป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งที่น่าสนใจว่า ทิศทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ก้าวหน้าขึ้นได้มากน้อยเพียงใด อย่างน้อยยังมีปัจจัยแทรกซ้อนอีกหลายประการที่มีผลต่อการนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่ใน “สถานการณ์เก่า” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเห็นต่างระหว่าง “มาราปาตานี พลัส” กับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นส่วนของ “สำนักประชาสัมพันธ์ขบวนการบีอาร์เอ็น” หรือความเป็น “ตัวจริง-ตัวปลอม” ของกลุ่มผู้เห็นต่าง รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งในประเทศไทย ทิศทางการเมืองและการบริหารประเทศที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน
จะอย่างไรก็ตามแต่ ขอกล่าว “สวัสดีใหม่ 2562” แด่ทุกท่าน ให้โชคดีมีสุขพบกับ “สันติสุข-สันติภาพ” ในทุกระดับตลอดปี