สังคมไทยควรจะเป็นไปตาม “สัญญาประชาคม” สิบข้อ ที่เสนอออกมา โดยหลักการแล้ว สัญญาประชาคมทั้งสิบข้อนี้ก็เป็นความหวังที่เราจะมีสังคมศิวิไลซ์อย่างนั้น แต่ปัญหาคือเราจะบรรลุถึงจุดนั้นได้อย่างไร ? เราเห็นว่าเรื่อง “ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม” สำคัญที่สุด “ความเห็นต่าง” ในด้านต่าง ๆ นั้น ถ้าปล่อยให้รุนแรงจนกลายเป็น “ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์” มันก็จะเกิดการปะทะกัน แต่ถ้ามีกรอบคุณธรรมจริยธรรมกำกับ ความเห็นต่างก็จะเป็นเพียง “ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน” ที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กัน อยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องทำลายล้างกัน อีกทั้งกรอบคุณธรรมและจริยธรรมก็จะกำกับสังคมให้มีความรุนแรงทางอาชญากรรม การทำร้ายกัน รวมทั้งการคดโกง การเอารัดเอาเปรียบกัน ในสังคมน้อยลงด้วย ความสงบสันติสุข การกระจายความผาสุกในสังคม จะทำได้ดี สมาชิกในสังคมจะต้องมีคุณธรรมจริยธรรมในระดับดี เมื่อพิจารณาให้ลึก ๆ เราจะพบว่า ปัญหาในสังคมไทยที่กำลังก่อทุกข์ให้คนไทยอยู่นั้น รากเหง้าของปัญหาล้วนมาจาก ความเสื่อมของคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทย แม้ว่าคนก็คือสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความโหดร้ายตามธรรมชาติ แต่คนก็ได้พัฒนาสังคมขึ้น แล้วมีกรอบคุณธรรมจริยธรรม มีศาสนา ฯ ขึ้นมาเป็นกรอบป้องกันธรรมชาติด้านเลวร้ายของคนไว้ และพยายามพัฒนา “คน” ให้พ้นจากความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง คุณธรรมและจริยธรรมมีบทบาทปกปักรักษาความดีงามให้คงอยู่คู่มนุษย์ กระนั้นก็ตามโลกเราก็ยังมีทั้งคนดีและคนร้าย โลกยังเต็มไปด้วยความไม่เสมอภาค การเอารัดเอาเปรียบ การแข่งขันเพื่อเอาชนะอย่างไม่เลือกวิธีการ ฯลฯ เราทุกคนมีหน้าที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ตลอดไป บางท่านอาจทำตามศรัทธาในอุดมคติทางการเมือง บางท่านทำตามศรัทธาในทางศาสนา ศาสนาทุกศาสนาดีงาม แต่ทว่าปัจจุบันปัญหาศาสนากำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญในโลก เพราะคนส่วนหนึ่งใช้ศาสนาไปในทางที่ผิดพลาด เช่นหลงใช้เปลือกกระพี้ของศาสนามาเป็นเหตุทำสงครามฆ่าฟันกัน เราจงมาร่วมกันทำตามอุดมคติในกรอบของคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามเถิด ไม่ว่าท่านจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไร อย่าปฏิเสธเป็นอันขาดว่าท่านไม่รู้ว่าการปฏิบัติถูกต้องตามทำนองคลองธรรม คุณธรรมจริยธรรมนั้นคือทำอย่างไร เพราะคุณสมบัติข้อนี้คือพื้นฐานของความเป็นมนุษย์