ศึกชิงนายกอบจ. ทั่วประเทศ ในสายตาของ “กูรูการเมือง” บางสำนัก อาจประเมินว่า “พรรคประชาชน” แล้ว ผลแพ้-ชนะในสนามระดับท้องถิ่นเป็นหนึ่งในปฏิบัติการเช็คกระแส หยั่งเสียงเพื่อสแกนพื้นที่ให้เห็นถึง “จุดอ่อนจุดแข็ง” ก่อนการเลือกตั้งใหญ่มาถึง
หากแต่สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” แล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขาต่างถือ “เดิมพัน” ที่มากกว่า เพราะผลแพ้-ชนะ ในการเลือกตั้งสมาชิกและนายกอบจ. ในวันที่ 1 ก.พ.68 นี้ คือ “ดัชนี” ที่จะถูกนำมาชี้วัดถึง “ความนิยม” ทั้งต่อ “พรรคเพื่อไทย”
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตัว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องโดดลงมารับบท “ผู้ช่วยหาเสียง”ให้กับลูกพรรค ลุยเดินสายมาแล้วหลายจังหวัดตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่ผ่านมา โดยจะปิดท้ายกันที่จังหวัดเชียงราย อันเป็นพื้นที่ของ “ลูกน้องคนสำคัญ” อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” แกนนำพรรคเพื่อไทย เนื่องจากรอบนี้ส่งภรรยาลงชิงนายกอบจ.เชียงราย
การเดินสายหาเสียงของทักษิณ นับแรมเดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเขาสามารถ “ยึดพื้นที่สื่อ” เอาไว้ในมือได้แทบทั้งหมด แม้ที่ผ่านมา เขาเองพยายามลดโทนเพื่อให้ “ลูกสาว” อย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” ได้โดดเด่น ดำเนินบทบาทในฐานะ “นายกฯคนที่ 31” ก็ตาม
ทว่าเมื่อสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมือง อยู่ในภาวะ บีบรีด กดดันให้ทักษิณ ต้อง “ออกหน้า” ลงมาลุยเอง เพื่อดึงคะแนนเสียงจาก กองเชียร์ ของพรรคเพื่อไทยเองไปจนถึงการกวักมือเรียก “คนเสื้อแดง” ให้หันกลับมา แม้ก่อนหน้านี้ จะเคยเกิดภาวะ “แดงปันใจ” เปลี่ยนแปลงไปเชียร์ “พรรคสีส้ม”
อีกทั้งเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ทักษิณ ต้องออกหน้าเดินสายหาเสียงอย่างต่อเนื่อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ได้สู้กับ “พรรคประชาชน” พรรคการเมืองสีส้ม พรรคแกนนำฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังปรากฏว่า “พรรคสีน้ำเงิน” อย่าง “ภูมิใจไทย” ที่ชำนาญการรบในภาคสนาม ได้ให้การสนับสนุน “ผู้สมัครนายกอบจ.” ด้วยกันในหลายต่อหลายจังหวัด โดยที่ผู้สมัครรายนั้นๆไม่จำเป็นต้องาสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทยหาเสียงแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ ทักษิณ เองรู้ดีว่า ศึกเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1ก.พ.นี้ แม้ด้านหนึ่งจะทำให้เกิดการเสียเปรียบ สำหรับพรรคสีส้ม แต่ไม่ได้หมายความว่า ชัยชนะทั้งหมดจะตกเป็นของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเองประเมินว่า ผลจาการแพ้ชนะในการเลือกตั้งสนามท้องถิ่นครั้งนี้ ด้านหนึ่ง จะเป็นการสะท้อนบารมีของตัวทักษิณ ได้ชัดเจน ว่า เมื่อได้นำนโยบายรัฐบาลอันเป็นการเมืองระดับชาติ ลงมาเสนอต่อประชาชน โดยบวกกับความนิยมที่ทักษิณ เดินสาย “ทวงคืน” จากพรรคสีส้มและสีน้ำเงิน จะกลายเป็น “มูลค่า” ที่จะถูกนำไปต่อยอดทางการเมืองทั้งต่อพรรคเพื่อไทย และตัวทักษิณ โดยตรง
แต่ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า “ความนิยม” ของพรรคเพื่อไทย อาจ “เอาชัย” ได้ในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจาก พรรคสีส้มยังไม่สามารถ “เจาะ” เข้ามาได้ ก็ตาม ทว่าในพื้นที่ที่เป็น “เขตหัวเมือง” ในภาคกลาง และในจังหวัดที่เคยมีสส.ของพรรคก้าวไกล ทำแต้มเอาไว้ อาจเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไข ที่ทำให้พรรคเพื่อไทย จะไม่สามารถ ชนะได้ทั้งหมด
ดังนั้นสำหรับพรรคเพื่อไทย แล้วการยึดพื้นที่ภาคอีสาน จึงเป็นชัยภูมิที่แพ้ไม่ได้ มากกว่า “ภาคเหนือ” ที่ยังต้องอยู่ในสภาพ “ต้องลุ้น” ว่าจะกวาดนายกอบจ.ได้หมดหรือไม่ เมื่อในหลายจังหวัด พรรคสีน้ำเงินเองก็พยายาม “กินแดน” มาก่อนที่ “ทักษิณ” จะกลับมาถึงเมืองไทยในปี 2566 แล้วด้วยซ้ำ !