เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

เมื่อต้นปี 2544 พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผ่านสภาฯ เป็นอะไรที่ใหม่ทั้งภาษาและวิธีคิด คนคุ้นเคยแต่คำว่า “รัฐวิสาหกิจ” แม้แต่ผู้ประกาศข่าวทางวิทยุโทรทัศน์ยังมักพูดผิดๆ ว่า “รัฐวิสาหกิจชุมชน”

ความจริงมีคำว่า “วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม” หรือ “การประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม” แต่ทั่วไปก็มักใช้คำว่า SMEs (Small and Medium Enterprises) มากกว่า เพราะสั้นกว่า

“วิสาหกิจชุมชน” เป็น “การประกอบการของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” เป็น “SMCEs”  (Small and Micro Community Enterprises) หรือการประกอบการขนาดเล็กขนาดจิ๋วของชุมชน

มูลิธิหมู่บ้านเป็นผู้คิดคำนี้ จึงอยากเล่าความเป็นมา ซึ่งมีความสำคัญเพื่อจะได้เข้าใจว่า ทำไมวันนี้มีวิสาหกิจชุมชน 80,000 แห่ง แต่ไม่ได้มีพลังที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างที่ตั้งใจไว้แต่ดั้งเดิม

มูลนิธิหมู่บ้านเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 แต่แนวคิดในการพัฒนาขององค์กรเอกชนนี้เริ่มก่อนนั้น 5-6 ปี ที่สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ที่จัดการสัมมนาเรื่อง “วัฒนธรรมชุมชนกับการพัฒนา” ที่รวมเอานักพัฒนา นักวิชาการ ผู้นำชุมชนมาวิพากษ์แนวคิดเรื่องการพัฒนาชุมชน

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจากการนำโครงการไปให้ชาวบ้าน เพราะคิดว่า “โง่ จน เจ็บ” เปลี่ยนเป็นการไปเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิต ระบบคุณค่า ภูมิปัญญา ไปค้นหา “ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม” ของชุมชน

เป็นการเปลี่ยน “กระบวนทัศน์พัฒนา” เปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติจากแนว “เศรษฐกิจ” และ “เศรษฐกิจ-สังคม” มาเป็น “สังคม-วัฒนธรรม” เปลี่ยนวิธีให้คุณค่า เปลี่ยนการมองโลกมองชีวิตมองชุมชนจาก “โง่ จน เจ็บ” มาเป็นการค้นหาและค้นพบพลังอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในวิถีวัฒนธรรมของชุมชน

เป็นกระบวนการชวนชาวบ้านให้ “คืนสู่รากเหง้า” ค้นหาประวัติศาสตร์ของตนเองที่ถูกลืมหรือถูกทำให้ลืม ถูกกลบลบเลือนด้วยประวัติศาสตร์ชาตินิยม ชาวบ้านรู้ว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นใคร แต่ไม่รู้ว่าคนตั้งหมู่บ้านของตนเองเป็นใคร พัฒนามาอย่างไร ไม่รู้ว่าทำไมถนนมาไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านจึงเป็นหนี้สินกันหมด

การพัฒนาแนวใหม่ ไม่ใช่ “จากนอกสู่ใน” แต่ “จากในสู่นอก” เป็นการพัฒนาจิตสำนึก ที่ถูกทำลายไปในนามของการพัฒนา โดยนับตั้งแต่ 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก เราก็ได้เห็นน้ำหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ มีเงินใช้ มีความสะดวกสบายหลายอย่าง

แต่ชาวบ้านได้สูญเสียสิ่งสำคัญที่สุดไป คือ “ความเชื่อมั่นในตัวเอง” ทำให้พึ่งตนเองไม่ได้ ผลิตอะไรมาก็ต้องพึ่งพ่อค้า การศึกษาต้องพึ่งครู สุขภาพต้องพึ่งหมอ การพัฒนาไม่ว่าเรื่องอะไรต้องพึ่งรัฐ

การพัฒนาตามแผนดูดี แต่แทนที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง กลับทำให้อ่อนแอ เป็นสังคมอุปถัมภ์ซ้ำซากที่แทนที่จะปลดปล่อยให้เป็นอิสระ กลับทำให้คนบางกลุ่มรวยขึ้น แต่ส่วนใหญ่จนลง เต็มไปด้วยหนี้สินและความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างถ่างออกไประหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างคนมีมากกับคนแทบไม่มีอะไรนอกจากหนี้สิน

มูลนิธิหมู่บ้านมีฐานคิดเรื่องการพัฒนาที่ทำให้จัดองค์กรเป็น 3 ส่วน คือ หนึ่ง การสืบค้นข้อมูลชุมชนและการสื่อสารเผยแพร่สู่สาธารณะ สอง การวิจัยเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมร่วมกับชุมชน สาม การส่งเสริมสถาบันหมู่บ้าน ด้วยการประสานเครือข่ายผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ด้วยแนวคิดนี้ องค์กรเล็กๆ อย่างมูลนิธิหมู่บ้าน ที่มีพนักงานไม่ถึง 20 คน งบประมาณไม่ถึง 2 ล้านบาท จึงทำงานพัฒนาครอบคลุมทั้งประเทศ

วันหนึ่งปรึกษากับผู้นำชุมชนว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนา “ธุรกิจชุมชน” เพื่อเป็นรายได้ชดเชยการที่ผู้นำเหล่านี้ต้องออกจากบ้าน ทิ้งการงาน โดยไม่ได้ค่าชดเชย ได้แต่ค่าเดินทางรถหวานเย็นไปร่วมประชุมสัมมนา

มูลนิธิหมู่บ้านมีข้อมูล “ธุรกิจชุมชน” ทั่วประเทศ พอจะรู้ศักยภาพ ปัญหาและความต้องการของชุมชน พบว่า ธุรกิจชุมชนเกือบทั้งหมดอยู่ในมือพ่อค้านายทุนจากภายนอก ชาวบ้านและหมู่บ้านเป็นฐานการผลิตย่อย แทนโรงงานในเมืองหลวงเมืองใหญ่

ข้อมูลทำให้เราพบว่า ทางใต้ไม่มีโรงงานทำแป้งขนมจีน จึงร่วมกับผู้นำชุมชนทำวิจัยจนได้คำตอบว่า น่าจะทำโรงงานแป้งขนมจีนโดยร่วมทุนกันระหว่างชุมชน

ประเด็น คือ จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีทางเลือกเพียงเป็นบริษัท สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร ตัดสินใจเลือกจดเป็นบริษัท แต่ก็มีการเสนอทางเลือกที่สาม คือ “วิสาหกิจชุมชน” คำใหม่ที่เกิดในที่ประชุม

เราได้พบว่า เมืองไทยมีสหกรณ์มานับร้อยปี แต่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวคิดดั้งเดิมของสหกรณ์ที่เกิดในยุโรป ชาวบ้านในหมู่บ้านตำบลเข้าไม่ถึงสหกรณ์ที่อยู่ที่อำเภอ

มูลนิธิหมู่บ้านร่วมกับผู้นำชุมชน และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง จึงได้ร่างพรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ซึ่งครม.สัญจรของรัฐบาล “ทักษิณ1” ในปี 2544 ผ่านส่งต่อไปกฤษฎีกาและสภาฯ

เลขาฯ กฤษฎีกาถามว่า ทำไมเมืองไทยควรมีพ.ร.บ.นี้ ที่ไม่มีในประเทศใดในโลก ผมตอบว่า เพราะพ.ร.บ.ส่งเสริมสหกรณ์ของเขามีประสิทธิภาพ หลากหลาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ส่งเสริมสังคมชนบทและเมืองทุกรูปแบบ

ขณะที่สหกรณ์บ้านเราเปรียบเหมือนรถทัวร์คนใหญ่ ไปถึงแต่เมืองใหญ่ วิสาหกิจชุมชนเปรียบเหมือนรถตู้ ที่รับคนได้ 10 คน ไปส่งตามหมู่บ้านโดยตรง ไม่ต้องนั่งรถหลายต่อ หรือในกรุงเทพฯ เองก็แทนหรือสริมรถเมล์ได้ คล่องตัวมากกว่า ไปได้หลายจุดที่รถเมล์ไปไม่ได้

เมื่อพ.ร.บ.นี้ผ่านสภาต้นปี 2548 เนื้อหาที่เป็น “หัวใจ” ของการส่งเสริมถูกตัดไปหมด คือ ความเป็นนิติบุคคล กองทุน และสถาบันทางวิชาการเพื่อส่งเสริมสนับสนุน โดยได้รับคำอธิบายว่า มีสหกรณ์แล้ว มีธ.ก.ส.แล้ว มีสถาบันอุดมศึกษาแล้ว คำถามของเราที่เสนอพ.ร.บ. คือ เมื่อ “มีหมดแล้ว” จะมีพ.ร.บ.นี้ไปทำไม

วิสาหกิจชุมชนที่รัฐส่งเสริมทั่วประเทศ 80,000 แห่งจึงเป็นเพียง “บอนไซ” ไม้ที่ไม่โต ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมาย ไม่ได้ต่างจากกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน ที่หน่วยงานรัฐไปตั้งในหมู่บ้าน

แม้ว่าเมื่อปี 2562 จะมีการปรับปรุงพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ก็เพียงปะแป้งแต่งหน้า ยังคงเป็นกลไกที่ไร้พลัง