วันก่อนน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า เธอเองยังตกเป็นเป้าหมายการหลอกลวงออนไลน์โดยมีผู้ใช้เอไอปลอมเสียงแอบอ้างเป็นผู้นำบางประเทศติดต่อมาหลอกให้โอนเงินบริจาค แต่ปรากฏว่าเธอเอะใจเสียก่อน เนื่องจากสังเกตได้ว่าบัญชีโอนเงินนั้นมาจากคนละประเทศทำให้ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ พร้อมกับเตือนประชาชนในเรื่องนี้ และสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตรวจสอบ
เรื่องนี่ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งปราบปราม โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้ก่อเหตุรู้ด้วยว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังเหิมเกริมก่อการ
ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้สูงอายุยังคงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ดังที่เราจะได้เห็นภาพที่ผู้สูงอายุไม่เชื่อว่าตนเองถูกหลอก และสูญเสียเงินบำนาญหรือเงินเก็บมาทั้งชีวิต ซึ่งรูปแบบการหลอกลวงประกอบด้วย
1. การหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยหลอกให้ซื้อขายสินค้าแต่ไม่มีเจตนาที่จะส่งสินค้าให้จริง
2. การหลอกลงทุน โดยหลอกชักชวนให้ลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ที่ไม่มีอยู่จริง
3. การหลอกให้รัก โดยหลอกเข้ามาตีสนิท สร้างความสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อหวังเอาทรัพย์สิน
4. การหลอกให้กลัว หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งว่าท่านเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หลอกให้โอนเงินให้ตรวจสอบ
5. การหลอกขายยาและอาหารเสริม โดยหลอกขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยา อ้างว่าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจไม่ได้ผลจริงและเป็นอันตราย
6. การหลอกขายประกันสุขภาพ โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนจากบริษัทประกันสุขภาพ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือขายประกันที่ไม่เป็นความจริง
7. การหลอกรับสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องบำนาญหรือสวัสดิการผู้สูงอายุ และขอข้อมูลส่วนตัวหรือขอให้โอนเงินเพื่อดำเนินการ
แม้ปัจจุบันทุกเพศทุกวัย ก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้ แม้จะไม่มีเงินในบัญชีออนไลน์ มิจฉาชีพก็ยังหลอกลวงให้ไปขโมยทรัพย์สินของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้อื่นมาโอนเงินให้กับมิจฉาชีพได้ อย่างไรก็ตามเรามีความห่วงใยว่า ในช่วงก่อนตรุษจีนที่เงินหมื่นเฟส 2 ของรัฐบาลจึงมือบรรดาผู้สูงอายุ 60 ปี ซึ่งบรรดามิจฉาชีพเหล่านี้มักจะติดตามข่าวสารและอาศัยสถานการณ์หลอกลวงเหยื่อ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องและลูกหลานต้องช่วยกันดูแลผู้อาวุโสแบบยกระดับตั้งการ์ดสูง