แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ที่ลุกลามและแพร่ระบาดไม่ต่างกับเชื้อไวรัสโรคร้าย ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากสูญเสียทรัพย์สิน กระทบสุขภาพจิตและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันมิจฉาชีพมีกลวิธีในการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ
การแฮกโทรศัพท์มือถือ เพื่อล้วงข้อมูล หรือดูดเงินในบัญชีโอนเงินออกจากบัญชีไปบัญชีอื่น ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวัง นอกจากหมั่นอัปเดตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์แล้ว ยังต้องตรวจสอบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือเป็นประจำ
ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความ “สัญญาณเตือนภัย มือถืออาจโดนแฮก” ระบุว่า
1. โทรศัพท์มือถือ มีอาการแปลก ๆ เช่น
– หน้าจอเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือ ขึ้นตัวเลขแปลก ๆ
– เครื่องรีเซตตัวเองบ่อย ๆ
– แบตเตอรี่หมดเร็วกว่าปกติ
– มีการส่งข้อมูลให้ผู้อื่นอัตโนมัติ เป็นต้น
2. มี โฆษณา หรือ ภาพแปลก ๆ ขึ้นมาบนหน้าจอ
– มีมัลแวร์จำนวนมากที่ส่งผ่านเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย ผ่าน Pop-ups โฆษณา ซึ่งเมื่อคลิกแล้วจะนำไปยังเว็บไซต์ที่ฝังมัลแวร์ที่ใช้หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงิน ของเจ้าของเครื่อง ดังนั้น ห้ามกด Pop-ups ที่ผิดปกติ หรือไม่เกี่ยวข้อง ไม่เคยใช้งาน ไม่รู้จักมาก่อน
3. เครื่องตอบสนองช้าและเน็ตหมดเร็วผิดปกติ (ที่ไม่ใช่เกิดจากโทรศัพท์รุ่นเก่า)
– ให้ทดลองรีเซตเครื่องเป็นค่าเดิมจากโรงงาน หากยังมีอาการผิดปกติ อาจมีความเสี่ยงที่เครื่องจะถูกแฮกได้
4. มีแอปพลิเคชันแปลก ๆ ติดตั้งเองโดยไม่รู้ตัว
– หากมีแอปพลิเคชันที่เราไม่ได้ดาวน์โหลดเอง ควรลบ หรือนำข้อมูลนั้นออกจากเครื่องทันที
5. มีเว็บการพนัน เกมออนไลน์ ส่งข้อความมายัง sms หรือแชร์ผ่านอัลบั้มรูป
– ห้ามกดรับ หรือยืนยัน หรือตกลง ให้กดรายงานว่าเป็นสแปม หรือข้อความขยะ ทันที
วิธีแก้ไข
1. ลบแอปพลิเคชันแปลก ๆ ที่ไม่รู้จักและไม่เคยดาวน์โหลด
2. แจ้งทุกคนที่เราบันทึกรายชื่อว่าอย่ากดลิงก์ใด ๆ ที่เราส่งไป
3. เปลี่ยนพาสเวิร์ดแอปพลิเคชันธนาคาร
4. รีเซตโทรศัพท์เป็นการตั้งค่าจากโรงงาน
ทั้งนี้ การรู้เท่าทันและระมัดระวังป้องกัน ก็ไม่อาจรับประกันว่าจะไม่พลั้งพลาดตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่จ้องก่อเหตุ และพัฒนากลวิธีที่สลับซับซ้อนขึ้น จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษรุนแรงกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์