สถาพร ศรีสัจจัง แต่เดิมตั้งใจไว้ว่าจะตั้งชื่อบทความเรื่องนี้ว่า “บัลลังก์อสูร” เพราะพิจารณาดูแล้วเห็นว่าน่าจะเข้ากับความนิยมในสังคมไทย ทั้งนี้โดยพิเคราะห์พิจารณาจากการตั้งชื่อเรื่องของภาพยนตร์ไทยเป็นหลัก สังเกตุไหมว่า หนังไทยเรื่องใดก็ตามที่ลงท้ายด้วยคำ “อสูร” มักมีรายได้เป็นหลัก “ล้านแล้วจ้า!” แทบทุกเรื่อง (เทคนิคโฆษณาหนังไทยในอดีต) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “มนต์รักอสูร” หรือ “ทายาทอสูร” ก็ตาม               แต่บังเอิญนึกขึ้นมาได้ว่า เคยดูคำแปลในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน แล้วนำมาเปรียบกัน เห็นว่าประเด็นที่จะนำเสนอครั้งนี้ คำ “ผี” น่าจะมีความหมายตรงและครอบคลุมเนื้อหาได้ดีกว่าคำว่า “อสูร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำ “อสูร” ไว้เพียงว่า “ยักษ์,อสุรี” ขณะที่ให้ความหมายคำว่า “ผี” ไว้ค่อนข้างละเอียดยาวเหยียด คือ :               คำนาม(ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)                   1. สิ่งที่ปกติแล้วมนุษย์มองไม่เห็น และสัมผัสไม่ได้ แต่เชื่อว่ามีจริง และอาจปรากฏรูปร่างให้เห็นได้ในบางขณะ มีทั้งที่ให้คุณหรือให้โทษ                     2. เรียกคนที่ตายไปแล้ว                 คำวิเศษณ์                    1.เลว,ทราม (คนผี,เด็กผี)                    2.น่าเกลียด (หน้าผี)                  ทีนี้คงต้องนิยามอีกคำ คือคำว่า “บัลลังก์” แม้คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และ “วีกิพจนานุกรม” จะให้ความหมายไว้ละเอียดอย่างไรแล้วก็ตาม. แต่ความหมายในการนำเสนอครั้งนี้ เพียงจำเพาะหมายถึง “ม้านั่งประจำโต๊ะทำงานอย่างเป็นทางการของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย” เท่านั้น                  ขอให้เข้าใจตรงกันตามนี้ !                  และม้านั่งตัวนี้เอง ที่มีใครหลายคน ทั้งที่เป็นนักการเมือง คอลัมน์นิสต์ นักข่าว นักเคลื่อนไหวทางสังคม กระทั่งถึงชาวบ้านร้านตลาดตาดำๆ จำนวนไม่น้อยเคยสรุปไว้ว่าเป็น “ม้านั่งผีสิง” !                 ประมวลสรุปเหตุผลของใครหลายใครที่เรียกม้านั่งตัวนี้ว่า “บัลลังก์ผีสิง” ก็พบว่า ส่วนใหญ่มีข้อสังเกตและเหตุผลตรงกันอย่างง่ายๆ กล่าวคือ พวกเขาสรุปได้ว่า ใครก็ตาม ด้วยเหตุใดก็ตาม ที่มีเหตุให้ต้องมานั่งม้าหรือ “บัลลังก์” (ที่เรียกบัลลังก์เพราะคนที่นั่งม้านั่งตัวนี้คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศไทย ทรงอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่ใครๆก็ได้ในทุกเรื่อง)ตัวนี้ เขาคนนั้นก็มักต้องมีอาการนิสัยความประพฤติที่ผิดสำแดงไปจากเดิม ยิ่งนั่งนานเท่าใด ก็ยิ่งเปลี่ยนไปมากเท่านั้น และที่เปลี่ยนไปมักจะจากดีเป็นร้าย ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุพลังของ “ผี” ที่สิงสู่มาอย่างยาวนานในม้านั่งตัวนี้นั่นเอง                  ฟังว่า “ผี” ที่ฤทธิ์มากตัวนั้น มีชื่อเรียกสั้นๆ จำได้ง่ายว่า “อำนาจ” !                   ผีตัวที่ชื่อ “อำนาจ” นี้น่ากลัวจนถึงขนาดพระพุทธองค์เคยตรัสถึง ยังมีปรากฏอยู่ในพระพุทธธรรมคัมภีร์ว่า “วโส  อิสฺริยํ  โลเก” มหาบาเรียนเขาแปลเป็นไทยไว้ว่า “อำนาจเป็นใหญ่ในโลก”                   แต่ “อำนาจ” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงนั้น มีบริบทขยายไว้ชัดว่า ต้องเป็นอำนาจที่มี “ธรรม” กำกับเท่านั้น ซึ่งก็คือ “อำนาจที่เป็นธรรม” นั่นเอง                   ใครก็ได้ ลองตรองกันตรงๆเถอะว่า จะมีโลกิยชนที่เคยนั่ง(และกำลังอยากนั่งอยู่ตอนนี้) “บัลลังก์ผีสิง” ตัวนี้สักกี่คน ที่มี “ธรรม” สูงพอที่จะคุ้มครองตัวให้จิตไม่วิปลาสไปกับการถูกเข้าสิงของ “ผี” ที่ชื่อ “อำนาจ” ตนนั้น?!!!