เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ไม่นานมานี้ มีการทำประชามติที่ไต้หวันเรื่องกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ปรากฎว่าคนไต้หวันไม่เห็นด้วย กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) ให้เหตุผลว่า ที่แพ้เป็นเพราะถูกไส่ความด้วยข่าวหลอก เรื่องราวอันเป็นเท็จแพร่หลายทางสื่อ มีผลต่อทัศนคติของประชาชน พวกเขาบอกว่า การทำประชามติครั้งนี้มีผลเสียต่อชาว LGBT อย่างมาก นอกจากจะแพ้แล้ว ยังไปเพิ่มเติมตราบาปภาพลบให้พวกเขามากกว่าเดิม เมืองไทยก็เริ่มเห็นลายเรื่องนี้ประเดิมการเลือกตั้ง โลกเปลี่ยนไปแล้ว การสื่อสารไม่ได้อยู่ในมือของ “นักข่าว” หรือ “สื่อมวลชน” แบบเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อีกต่อไป แต่อยู่ในมือของประชาชนโดยตรงมากขึ้น ทำให้มีการ “สื่อสาร” และ “สื่อข่าว” ทั้งจริงและเท็จ มากมายและรวดเร็วจนยากต่อการควบคุม ปรากฎการณ์ทางการบ้านเมืองทั่วโลกวันนี้ต้องพิจารณาเรื่อง “การสื่อสารสาธารณะ” ที่เปลี่ยนไปนี้อย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง หรือเหตุการประท้วง การจราจล ที่เกิดขึ้น อย่างกรณีที่ประเทศฝรั่งเศส ที่ข่าวทั่วไปอาจบอกเพียงว่าเป็นการประท้วงการขึ้นภาษีน้ำมัน แต่ภาพที่ปรากฎแตกต่างไปจากอดีตมาก เมื่อก่อนเป็นการกระทำของสหภาพแรงงานหรือกลุ่มคนในอาชีพเดียว แต่วันนี้เป็น “ชาวบ้าน” ที่รวมตัวกัน แล้วมีสหภาพ มีสมาชิกพรรคการเมืองซ้ายจัดขวาจัดมาสมทบ กรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรป ที่คนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง ๔๐ ชนะและกลายเป็นผู้นำ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับ “การสื่อสารสาธารณะ” ยุคดิจิตอลอย่างแน่นอน เพราะคนรุ่นใหม่ใช้สื่อทันสมัยกระจายข่าวสารการรณรงค์ มี “ภาษาและตรรกะ” ของตนเอง การจัดการข่าวสารตามที่ตนต้องการ (manipulate) จึงอาจหมายถึงการเลือกข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงการบิดเบือนเพื่อสร้างความเข้าใจ แรงจูงใจ ปรับทัศนคติของผู้คนให้เห็นชอบกับคนที่ตนสนับสนุน เครือข่ายของนายมาครงใน “พรรคเดินหน้าสาธารณรัฐ” (En Marche) จึงเป็นคนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง เกษตรกร กรรมกร เอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี เด็ก คนชรา คนพิการ ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมมากที่สุด และเชื่อมต่อกันด้วย “มือถือ” โดยตรง ถ้าวันนี้เขาจะพังก็เพราะฐานพัง เครือข่ายแตก และ “หมองูตายเพราะงู” การสื่อสารสาธารณะเคยทำให้เขาชนะและกำลังจะทำให้เขาพ่ายแพ้ สหรัฐอเมริกาใช้การสื่อสารยุคใหม่เพื่อการหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีและทุกระดับ ใช้ข้อมูลที่ได้จากกลไกไอทีที่เข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก ปัญหาและความต้องการของประชาชนมากที่สุด ใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้มาทำการรณงค์แบบ “ยิงตรงเป้า” และได้ผลมากที่สุด ไม่ว่าจะตรงไปตรงมา หรือด้วยข่าวลวงข่าวหลอกหรือข้อเท็จจริงที่บิดเบือนที่สร้างได้อย่างแยบยลขณะเดียวกัน เครื่องมือสื่อสารมวลชนโบราณทั้งหลายก็กำลังดิ้นรนปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต้องลดขนาด ลดพนักงาน ทำตัวให้มีหลายร่างหลายมติติ ทั้ง “อนาล็อค” และ “ดิจิตอล” ทั้งแบบเดิมและไปอยู่บนมือถือของผู้คนให้ได้ สื่อเหล่านี้รู้ดีว่า บางข่าวจะมีการ “ส่งต่อ” ไปอีกเป็นแสน เป็นล้าน เป็นการกระจายข่าวที่ไม่ใช่แบบ “เส้นตรง” อีกต่อไป แต่เป็นแบบ “ทวีคูณ” หรือ “ไฟลามทุ่ง” ที่ผู้คนจะคัดเลือก ให้ความเห็น ส่งต่อ เรตติ้งของรายการทีวีวันนี้บางรายการที่ฮิตจึงสูงกว่าแต่ก่อนมาก เช่นเดียวกับวงการเพลงที่เปลี่ยนไป ไม่ต้องสังกัดค่ายใหญ่ก็ดังได้ ถ้า “โดนใจ” และแพร่หลายเป็น “ไวรัส” ยอดวิวเป็นร้อยล้าน ในเวลาเดียวกัน ก็มีการแสดงความเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ ทีเป็นข่าว กลายเป็น “กระแส” หรือ “ดราม่า” ที่ประชาชนคนทั่วไปทำตัวเป็น “กองเชียร์-กองแช่ง” “ทนาย” “อัยการ” “ศาล” มีทั้งการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึง “การตัดสิน” และ “ลงโทษ” วันนี้จึงดูเหมือนว่า สื่อมวลชนต่างๆ พากันแสวงหา “ข่าว” ประเภท “ชาวบ้าน” มากมายจนล้นจอ เพราะมีแหล่งข่าวและ “ผู้สื่อข่าว” ทั่วแผ่นดิน ที่แจ้งข่าวเป็นเสียงบ้างเป็นภาพบ้าง ทุกวันจะเห็นภาพข่าวที่มาจากมือถือชาวบ้าน นอกจากนั้น ยังมีกล้องวงจรปิดเต็มไปหมด เป็นข่าวได้เป็นอย่างดี สื่อมวลชนก็ชอบลงข่าวที่ทำให้ชาวบ้านสื่อสารต่อ หรือไม่ก็เสนอเรื่องราวของบุคคลที่ทำความดี ที่พิการน่าสงสาร คนสู้ชีวิต และจบลงด้วยหมายเลขบัญชีธนาคาร ไม่เห็นการวิเคราะห์ปัญหาระบบโครงสร้างสังคมไม่เป็นธรรม ธรรมาภิบาลของหน่วยงานรัฐ อันเป็นความรับผิดชอบโดยตรง มีบ้างก็พอเป็นกระสายยาเพราะเงาทมึนอยู่หลังสื่อ คือ อำนาจรัฐและอำนาจทุน ที่ใช้สื่อพยุงอำนาจนำ (hegemony) ครอบงำสังคม ครอบงำประชาชน คลุกเคล้าไปกับเกมโชว์สนุกสนาน การประกวดร้องเพลง ดนตรี กีฬา สารพัดรูปแบบ พร้อมกับโฆษณาชวนเชื่อ (ทางการเมือง) และโฆษณาบ้าเลือด (ทางธุรกิจ) สื่อมวลชนต้นทางของข้อมูลข่าวสารที่ลงไปในมือถือจึงถูกกรองมาต่อหนึ่งจากอำนาจทุนและอำนาจรัฐ ตัวพ่อตัวแม่ทุนอุปถัมภ์ด้วยงบโฆษณาก้อนโต ปิดปากสื่อเหล่านี้หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ความทุกย์ยากของประชาชนสื่อทั้งหลายไม่ได้ไปสืบค้นลงลึก หรือไม่ก็นำเสนอแบบแยกส่วน หรือทำให้เห็นแต่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ไม่กล้าดำลงไปถึงใต้น้ำ ปลอดภัยกว่าต้องไปหาเรื่องที่แปลกดี มีเสน่ห์มานำเสนอ โดยใช้เวลาน้อยและงบประมาณน้อย ไม่ต้องลงทุนพอๆ กับคนทำรายการวิทยุที่ไม่ต้องทำอะไร เพียงไปซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านมาเล่าให้ชาวบ้านฟังเชื่อว่าสื่อปรับตัวได้ อยู่รอดได้ถ้าอยู่ข้างประชาชน คนจน คนยากไร้ คนส่วนใหญ่ของสังคม สื่อไหน ใครจะอยู่ ใครจะไป ปีใหม่ก็รู้ ขอให้โชคดี และสวัสดีปีใหม่ครับ