เหมือนกุมสภาพการเมืองไว้ได้เบ็ดเสร็จ หลังรอดพ้นจากคมดาบของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองมาได้ สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย รวมทั้งรัฐบาลแพทองธาร โดยอยู่ในจังหวะการโต้กลับเอาคืน

โดยองคาพยพที่อยู่ฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะ “คนบ้านป่า” ที่นายทักษิณ เคยลั่นวาจาว่า “สร้างความวุ่นวาย”นั้น เหมือนกำลังถูกไล่ต้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม

แต่หนทางของรัฐบาลแพทองธาร และผู้นำจิตวิญญาณยังคงเต็มไปด้วยขวากหนาม หากถอดรหัสจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์อย่างสังเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2568 น่าสนใจและครอบคลุม จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อได้อ่านสถานการณ์อย่างรู้เท่าทันดังนี้

โดยนายจุรินทร์ ระบุว่า “สถานการณ์การเมือไทยในปี 2568 จะมีความเข้มข้นขึ้น และอะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยมีปัจจัย 8 ข้อ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองในปีนี้ คือ 1.เข้าสู่ปีที่ 3 ของการเลือกตั้ง ถือเป็นครึ่งหลังของวาระ 4 ปีแล้ว 2.เป็นปีเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งมีความสำคัญกับการเมืองใหญ่ เพราะการเลือกนายก อบจ. คือ การชิงธงการเมืองใหญ่ในอนาคต ใครได้ นายก อบจ. มาครอบครองก็จะมีผลต่อการได้อำนาจ และเงินมาช่วยสนับสนุนการเมืองใหญ่

3.เป็นปีแห่งการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น ตัวอย่างเห็นได้ชัด เช่น เรื่องค่าไฟฟ้า ฝ่ายหนึ่งลดค่าไฟ จาก 4.18 บาท เหลือ 4.15 บาท ลดไป 3 สตางค์ เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน แต่อีกฝ่ายยังเกทับจะลดเหลือ 3.70 บาท เป็นต้น

4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นนโยบายหาเสียงของหลายพรรคการเมือง และรัฐบาลชุดที่แล้วได้ประกาศไว้ในนโยบายเร่งด่วนว่าจะแก้ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เป็นชุดปัจจุบัน ก็ถอยจากนโยบายเร่งด่วน กลายเป็นนโยบายธรรมดา ที่สำคัญคือการแก้ทั้งฉบับที่นำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ จะมีความขัดแย้งกัน ทั้งในระหว่างพรรคการเมืองและวุฒิสภาว่า จะต้องทำประชามติสองครั้ง หรือสามครั้งกันแน่

5.จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งสมควรแก่เวลาแล้วที่จะดำเนินการ แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลของฝ่ายค้าน สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนมากกว่า การตรวจสอบองค์กรอิสระ หรือกลไกอื่นๆ เพราะจะทำให้ภาพการอภิปรายเบลอออกไปไม่ตรงเป้า

6.การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากฝ่ายค้านอภิปรายตรงเป้า การปรับ ครม.ก็อาจเกิดขึ้นได้ แม้แพ้เสียงในสภา 7.เรื่องการยุบสภานั้น ตนเชื่อว่าไม่มีรัฐบาลใดอยากยุบสภา จะยุบสภาก็ต่อเมื่อไม่มีทางไปแล้วเท่านั้น และ 8.ที่บอกอะไรก็เกิดขึ้นได้ ก็คือเรื่องคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯและผู้เกี่ยวข้อง ไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย 13 เรื่อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง ถ้าคดีเหล่านี้ถูกวินิจฉัยในทางลบกับรัฐบาล”