เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

คนไทยคุ้นเคยกับ “ประชาพิจารณ์” (public hearing) และ “ประชามติ” (referendum) แต่ “ประชาพิจัย” ไม่ค่อยรู้ คำที่ UNDP แปลว่า People Research and Development และที่คุณหมอประเวศ วะสี นิยามว่า “การวิจัยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

“ประชาพิจัย” ไม่ติดตลาด แต่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่ทำงานพัฒนารู้จัก “การทำแผนแม่บทชุมชน” ซึ่งใช้ “ประชาพิจัย” เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาโดยมูลนิธิหมู่บ้าน ที่สังเคราะห์องค์ความรู้จากการทำงานร่วมกับชุมชน วิธีที่สภาพัฒน์นำไปส่งเสริมให้กระทรวงต่างๆ นำไปใช้

เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน มูลนิธิหมู่บ้านได้ทำโครงการเตรียมการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือการทำแผนแม่บทชุมชนเสนอของบประมาณไปที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้รับทุนมา 200,000 บาทเพื่อเตรียมโครงการ จากนั้น สกว.ปฏิเสธที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต่อ

มูลนิธิหมู่บ้านจึงขอรับการสนับสนุนจาก UNDP (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ที่กรุงเทพฯ และได้รับทุนให้พัฒนาเครื่องมือนี้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยทำการวิจัยใน 101 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งต่อมา UNDP ได้แปลเครื่องมือและแนวคิดนี้และเผยแพร่ไปทั่วโลก จึงนับเป็น “เครดิต” ของ UNDP ไม่ใช่ สกว.

ประชาพิจัยได้จากการนำประสบการณ์และเครื่องมือที่ “ชุมชน” หลายแห่งได้พัฒนาบางส่วน นำมาสังเคราะห์และบูรณาการเป็นเครื่องมือเพื่อทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งมี 7 ขั้นตอนให้ชุมชนวิจัยเพื่อจะได้

1) รู้จักตัวเอง รู้จักโลก  2) รู้จักรากเหง้า และเอกลักษ์  3) รู้จักศักยภาพ ทุน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ 4)  รู้รายรับ รายจ่าย หนี้สิน และปัญหา 5) เรียนรู้จากตัวอย่าง และความสำเร็จของชุมชนอื่น 6) วิเคราะห์ข้อมูล ค้นหาทางเลือกใหม่ ความต้องการแท้จริง 7) ร่างแผนแม่บท และประชาพิจารณ์

ทุกกระบวนการขั้นตอนต้องดำเนินการโดยชาวบ้านเป็นหลัก “คนนอก” เป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาเท่านั้น เป็นการวิจัยในระดับตำบล ซึ่งชุมชนทำได้ เพราะเราได้สังเคราะห์จากประสบการณ์ของอินแปง ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ของลุงประยงค์ รณรงค์ที่นครศรีธรรมราช และที่อื่นๆ ที่ชาวบ้านทำเองจนเห็นผล (ดังที่ “วิจัยไทบ้าน” ที่เขื่อนปากมูลได้รับรางวัลจาก WHO จากการที่ชาวบ้านวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของเขื่อนปากมูล)

การทำประชาพิจัยทำให้เกิดผลลัพธ์สำคัญ คือ ชุมชน 1) หลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพา มาพึ่งตนเอง เป็นตัวของตัวเอง  2) หลุดพ้นจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์เข้าสู่วัฒนธรรมข้อมูลความรู้  3) หลุดพ้นจากวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบรับมาเรียนรู้แบบรุก สืบค้น สำรวจ วิจัย แสวงหา พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้วยตัวเอง 4) หลุดพ้นจากวิธีคิดและวิธีจัดการแบบแยกส่วน มาคิดแบบเชื่อมโยงหรือบูรณาการ และจัดการแบบผนึกพลัง (synergy)  ที่เกิดผลทวีคูณ

องค์กรทุน SIP ได้สนับสนุนให้ทำประชาพิจัยใน 1,500 ตำบล สภาพัฒน์ฯ ส่งเสริมสนับสนุนให้กระทรวงต่างๆ นำไปใช้  แต่ก็เหมือน “โครงการดีๆ” ที่ภาคเอกชน ภาคชุมชนทำ แล้วทางราชการนำไป “ปูพรม” ไม่ได้ทำตามขั้นตอน เอางบประมาณและเวลาราชการเป็นตัวตั้ง ลดกระบวนการลงจนเหลือแต่การใช้เครื่องมือนี้เพื่อไปค้นหาปัญหาและความต้องการของชุมชน แล้วเขียนโครงการของบจากราชการ (เหมือนเดิม)

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ขอให้ผมเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเพื่อสู้ภัยเอดส์ ผมได้ร่างโครงการวิจัยใน 6 ตำบลที่อำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ผมก็ใช้ “ประชาพิจัย” เป็นเครื่องมือให้คณะผู้วิจัย ซึ่งมีอาจารย์จากคณะพยาบาล มช. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เอ็นจีโอ และกลุ่มผู้ติดเชื้อเป็น “พี่เลี้ยง” ให้ผู้นำชุมชนที่เป็นผู้ดำเนินการทำวิจัย

หลังการวิจัย ฮาร์วาร์ดส่งอาจารย์คนหนึ่งมาประเมิน โดยขอประชุมกับผู้นำชาวบ้านที่ทำการวิจัย ให้ “พวกเราคนนอก” ถอยไปอยู่อีกมุมหนึ่งของศาลาวัดที่อำเภอพร้าวที่จัดประชุม

อาจารย์ฮาร์วาร์ดถามว่า “ทำวิจัยมา 1 ปีได้อะไร” ผู้นำชุมชนคนหนึ่งยกมือตอบว่า “ได้กำกึด” (ความคิด) อาจารย์ขอให้ขยายความ เขาบอกว่า ก่อนนี้คิดว่า ทำงานเอดส์ก็ต้องการเงินเท่านั้น เพราะเด็กกำพร้าอยู่กับตายายต้องการเสื้อผ้า ยา อาหาร แต่พอมาร่วมทำวิจัยก็พบว่า ชุมชนมีอะไรอีกมากมายกว่าเงิน และได้แผนงานแนวทางที่เราจะทำเพื่อแก้ปัญหาโรคเอดส์ ไม่ใช่รอแต่งบประมาณจากรัฐและภายนอก

อาจารย์จากฮาร์วาร์ดพอใจโครงการนี้มาก จนขอนำ “ประชาพิจัย” ไปใช้ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่คาริบเบียน และแอฟริกา  ขณะที่ประเทศไทย “ลืม” เครื่องมือนี้ไปแล้ว หรือใช้แบบบิดเบือน ไม่ใช่เพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเอง แต่ให้อยู่ในระบบอุปถัมภ์ต่อไป ตัดส่วนแรกที่ให้ค้นหารากเหง้าของชุมชนออก

ประชาพิจัยไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้าง Big Data หรือข้อมูลใหญ่ของชุมชน แต่เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาจิตสำนึกใหม่ให้ชุมชน เพราะเราได้สังเคราะห์จากชุมชนที่ล้วนได้จิตสำนึกใหม่จากการวิจัยนี้

“เรื่องแผนแม่บทชุมชน เรื่องข้อมูลชุมชน เป็นเรื่องของการฝึกคนให้คิด ก็จะเกิดจิตสำนึกอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถแก้ปัญหาตนเองได้ นั่นคือความมั่นใจในผลของการดำเนินวิถีการพึ่งพาตนเอง” (ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ บ้านหนองกลางดง ประจวบคีรีขันธ์)

การทำประชาพิจัยทำให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ภูมิใจในรากเหง้า วัฒนธรรม  ค้นพบ “ทุน” และศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง เกิดวงจรชีวิตใหม่ของชุมชน จัดการชีวิตของตนเองเป็นระบบ  ตัดสินใจได้เอง เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชนที่สร้างหลักประกัน ความมั่นคง และ ระบบสวัสดิการให้ครอบครัว วันนี้และวันหน้า

วันนี้โลกก้าวไปไกลด้วยบิ๊กดาต้า ดิจิทัล และเอไอ และกำลังสร้างสังคมยุคใหม่ด้วยจิตสำนึกแบบใหม่ ที่เป็นกลไกไม่มีรากเหง้า ไม่มีอดีต มีแต่ปัจจุบันและอนาคต

สังคมแบบนี้ขาด “ความเป็นมนุษย์” ที่หาได้ในอดีต ไม่เช่นนั้น คนคงไม่ดูหนังอย่าง “สัปเหร่อ” และ “หลานม่า” เพราะชีวิตมีช่องว่าง ผู้คนโหยหาจิตวิญญาณที่ขาดหาย  ดู “หลานม่า” ถึงสะเทือนใจนัก