ทวี สุรฤทธิกุล

หลายคนเชื่อว่า “ทหาร” ยังคงมีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งก็เป็นด้วยทหารรู้จักใช้พลังอำนาจของตน “ประสาน” กับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในสังคมไทยมาโดยตลอด

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประสบความสำเร็จเพราะทหารในฝ่ายที่คุมกำลัง หันไปเข้าด้วยกับกลุ่มผู้นำของข้าราชการรุ่นใหม่ โดยที่ทหารกลุ่มนี้เองก็คือ “ทหารรุ่นใหม่” อีกด้วย

ย้อนไปในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจหรือความเข้มแข็งของพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับ “พระปรีชา” ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์นั้นเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพระปรีชาด้านการทหาร หรือไม่ก็ทรงต้องเป็นผู้นำทหารเสียเอง ดังจะเห็นได้จากพระบูรพกษัตริย์หลาย ๆ พระองค์ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา มาจนถึงกรุงธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ประเทศไทยมีการทำศึกกับเพื่อนบ้านมาโดยตลอด

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงระบบราชการครั้งใหญ่ ที่รวมถึงทหารนี้ด้วย จุดเด่นคือการรวมอำนาจในทุกภาคส่วนมารวมกันที่พระมหากษัตริย์ แม้แต่การควบคุมกองทัพทั้งหมดก็อยู่ที่รัชกาลที่ 5 โดยทรงมอบหมายให้พระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์มาร่วมกันควบคุมกองทัพ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าพระราชโอรสพระองค์สำคัญ ๆ (รวมถึงพระองค์ที่ครองราชย์ต่อมาอีก 2 รัชกาล คือรัชกาลที่ 6 กับรัชกาลที่ 7) ล้วนแต่ไปศึกษายังต่างประเทศในวิชาการทหารทั้งสิ้น นี่ย่อมแสดงว่าอำนาจทางทหารคืออำนาจที่สำคัญที่สุดในการปกครองประเทศ

ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้เขียนถึงความขัดแย้งในหมู่ผู้นำคณะราษฎร ที่มาถึงจุดแตกหักหลังการรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัน ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 แล้วมอบอำนาจนั้นให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากนั้นก็มีการกวาดล้างแกนนำฝ่ายพลเรือนในพวกของนายปรีดี พนมยงค์ อย่างเหี้ยมโหด พร้อมกับเข้าจับมือตั้งรัฐบาลกับฝ่ายอนุรักษ์ คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยนายควง อภัยวงศ์ อยู่ในระยะแรก จากนั้นทหารก็มีทีท่าว่าจะสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับพระมหากษัตริย์ให้คืนมา (หลังจากที่ได้ละทิ้งไปเป็นเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กระทั่งเกิดกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2490 อันนำมาซึ่งการรัฐประหารในเวลาอีก 5 เดือนต่อมาดังกล่าว)

ความล้มเหลวของ “ระบอบคณะราษฎร” (คือระบอบที่เชื่อกันว่าทหารกับพลเรือนจะสามารถร่วมกันใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน) เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของการเมืองการปกครองไทยที่ยังแสดงอัตลักษณ์แบบนั้นมาจนถึงยุคปัจจุบัน คือมีหลายครั้งที่ทหารพยายามจะประสานอำนาจเข้ากับฝ่ายพลเรือน แต่ก็ต้องล้มเหลว ถ้าไม่เป็นด้วย “โลกสวย” ของฝ่ายทหาร ก็เป็นด้วย “โลกทราม” ของฝ่ายพลเรือน

ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมามีอำนาจ “อีกครั้ง” ใน พ.ศ. 2490 ก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะว่าไปแล้วจอมพล ป.ก็คือแกนนำคนที่มีความสำคัญที่สุดของฝ่ายทหารมาตั้งแต่ครั้งที่ทำรัฐประหารในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั่นเอง หรือถ้าจะมองย้อนไปอีกสัก 6-7 ปี เขาก็คือเพื่อนนักเรียนไทยในยุโรปที่คบหากันมากับนายปรีดี พนมยงค์ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2468 (และไปสมคบคิดที่จะล้มระบอบกษัตริย์มาตั้งแต่ครั้งนั้น)นั่นแล้ว เพราะทั้งสองเป็นข้าราชการที่ได้รับทุนจาก “หลวง” คือทางราชการของแต่ละหน่วยงานส่งไปทั้งสิ้น ถึงขั้นที่ผู้คนในสมัยนั้นเชื่อว่า ผู้นำการปฏิวัติทั้งสองคนนี้ได้ให้สัตย์สาบานแก่กันและกันไว้ตั้งแต่เริ่มต้น จนไม่น่าเชื่อว่าจะมาทรยศต่อกันในภายหลังได้

ถ้าจะว่าไป จอมพล ป.อาจจะมองโลกสวยมากไปสักหน่อย แม้จะเพิ่งเห็นว่า “มิตรร่วมสาบาน” กระทำแก่ตนอย่างไรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ถึงขั้นที่เมื่อสงครามสิ้นสุด ฝ่ายพลเรือนของนายปรีดีขึ้นมามีอำนาจ ก็ตั้งข้อหาจอมพล ป.ว่าเป็นอาชญากรสงคราม และให้ตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณา) แต่พอทำรัฐประหารได้สำเร็จ(โดยให้เพื่อนคือจอมพลผิน ชุณหะวัน เป็นหัวหน้าทำการยึดอำนาจให้) ก็ยังหันไปร่วมมือกับนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในแกนนำฝ่ายพลเรือนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 นั้นเช่นกัน แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า นายควงนั้นอยู่คนละขั้วกับนายปรีดี และที่สำคัญนายควงมีความใกล้ชิดกับฝ่ายอนุรักษ์ โดยเฉพาะข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ในระบอบเก่า จนถึงองค์รัชกาลที่ 9 ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ ที่ฝ่ายทหารคิดจะ “เชื่อมสัมพันธ์” หรือ “คืนดี” กันให้ได้

นายปรีดีเมื่อหมดอำนาจไปภายหลังรัฐประหาร 2490 ก็พยายามที่จะกลับคืนสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ ที่เรียกว่า “กบฏวังหลวง” ใน พ.ศ. 2492 และต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งเสียชีวิตใน พ.ศ. 2526 ในขณะเดียวกันลิ่วล้อและบริวารก็ถูกกวาดล้างอย่างหนัก ที่โด่งดังมาก ๆ ก็คือการฆ่าคนสนิทนายปรีดีที่พระโขนงแล้วเอาไปเผาที่อำเภอบ่อพลอย กาญจนบุรี กับการล้อมสังหารอดีตรัฐมนตรีในสังกัดของนายปรีดีถึง 4 คน ที่ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีตำรวจบางเขน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็พยายามที่จะ “สร้างภาพ” ให้เห็นว่ารัฐบาลมีความห่วงใยในความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใน พ.ศ. 2492 นั้นเอง ให้กำหนดสถานะของพระมหากษัตริย์ที่จะไม่ให้ถูกละเมิดได้โดยง่าย โดยกำหนดเป็นหลักการสำคัญไว้ในมาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่า “ประเทศไทยมีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” โดยมีมาตราอื่น ๆ ปกป้องคุ้มครองพระมหากษัตริย์ไว้อย่างแน่นหนา ซึ่งถึงแม้ว่าจะวางหลักการไม่ให้พระมหากษัตริย์ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องหรือถูกการเมืองแทรกแซง แต่ด้วยการให้ความสำคัญแก่องค์พระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น ก็ส่งผลให้การเมืองนั่นเองเข้าไป “แอบอิง” พระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งได้ผลต่อการเมืองการปกครองไทยในยุคต่อมาอย่างมีนัยสำคัญ

ท่านที่สนใจการเมืองไทย “ภายใต้อุ้งมือทหาร” (บ้างก็ว่า “ใต้ท็อปบู๊ต”) คงจะหาข้อมูลได้ไม่ยาก ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำให้อ่านชีวประวัติของนายทหารคนสำคัญ 2 คน คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คนหนึ่ง กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อีกคนหนึ่ง เพราะสองคนนี้คือนายทหารที่สำคัญที่สุดในระบอบที่มีการ “ประสานอำนาจ” ระหว่างทหารกับพระมหากษัตริย์

พอดีผู้เขียนมี “ข้อมูลใหม่” ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่จะเกิดกับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอุ๊งอิ๊งในเร็ว ๆ นี้ (ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์) จึงจะขอรวบรัดมากล่าวถึง “ระบอบคณะประชาชน” ที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นระบอบที่ขึ้นมามีอำนาจในทางการเมืองไทยในยุคต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาอีกสัก 2 สัปดาห์ (ซึ่งน่าจะยังทันที่รัฐบาลนี้จะยังไม่มีอันเป็นไป)

“ระบอบประชาชน” มีความเกี่ยวเนื่องกับ “ระบอบคณะราษฎร” เป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่จะเคลื่อนไหวโดยคนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป้าหมายหรือยุทธวิธีในการไปสู่ระบอบนี้แต่อย่างใด