ทีมข่าวคิดลึก
การเดินทางไปจังหวัดเชียงรายเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาของ"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อร่วมการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ทั้งส่วนกลางและ กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ถือโอกาสพบปะกับประชาชนชาวเชียงราย มีขึ้นสลับกับการเดินทางไปตรวจเยี่ยมกระทรวงเพื่อติดตามงานก่อนหน้านี้
ดูเหมือนจะเป็นการสะท้อนภาพที่น่าสนใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเลือกที่จะหันมาให้น้ำหนักกับงานฝ่ายบริหารเหนือความวุ่นวายทางการเมืองเลือกดำเนินบทบาท "ผู้นำรัฐบาล" มากกว่าหัวหน้า คสช. เพราะตระหนักดีว่า สถานการณ์ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนนับจากนี้ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ไปจนถึงปีหน้า 2560 คือความท้าทายที่สำคัญ สำหรับรัฐบาลมากกว่าความวุ่นวายจากการเมือง
เพราะแม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ข้อขัดแย้ง ข้อท้วงติงจาก "นักการเมือง" ที่มีต่อเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปจนถึงความหวั่นไหวเมื่อพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับล้วนแล้วแต่มี"กับดัก" เอาไว้ทั้งสิ้นทว่า คสช. เองได้วางบทบาทหน้าที่เอาไว้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รวมทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่รับมือกับแนวรบทางการเมือง จะเป็นเรื่องที่สมน้ำสมเนื้อมากกว่า
การออกมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ภายใต้การประเมินผลว่า จะได้เห็นผลลัพธ์ในทางที่เป็นบวกชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประชาชนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย
ทั้งนี้แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเดินหน้า "ตรวจงาน" ตามกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิด"ผลงาน" และสามารถแก้ไขปัญหาให้บรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด !
บนเวทีวันนี้ แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า มีเพียงบิ๊กตู่ที่เป็น "ผู้เล่น" ซึ่งมีความโดดเด่นเหนือบรรดานักการเมืองแต่ในขณะเดียวกัน เมื่อโอกาสและสถานการณ์รอบด้านจะ "เอื้อ" ให้คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ เท่าใดก็ตาม แต่หากไม่สามารถ "ฉวยจังหวะ" สร้างผลงานเพื่อใช้เป็น "แต้มต่อ" ในการทำหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไปในวันข้างหน้าแล้ว จะกลายเป็นการ "เปิดช่อง" เปิดหน้า คสช. และตัวบิ๊กตู่ กลายเป็น "เป้านิ่ง" ถูกโจมตีแทนการก้าวข้ามความวุ่นวายทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในยามที่บ้านเมืองต้องการการขับเคลื่อนเดินหน้าในงานด้านนโยบาย ตลอดจนการบริหารจัดการปัญหาปากท้อง ที่จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ น่าจะเป็นการเปลี่ยนสนามเล่นที่มีแต่จะทำให้ คสช.และรัฐบาล มีแต่ได้มากกว่าเสีย
นอกจากนี้การดำรงสถานะของผู้นำรัฐบาล และหัวหน้า คสช. ที่แม้มีอำนาจแต่ไม่เลือกเล่นเกมการเมือง ให้โดดเด่น ล้ำหน้าไปกว่างานด้านบริหารยังอาจช่วยให้บรรยากาศทางการเมืองเกิดเป็นภาพในทางบวกมากกว่า โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่า เมื่อใดที่ คสช. เป็นฝ่ายสร้างแรงกดดันไปยังกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืออาการตอบโต้ และเรียกร้องให้ คสช. มองเห็นความสำคัญของการปรองดอง
โจทย์ต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นไปได้ทั้งความได้เปรียบ หรือเงื่อนไขที่สร้างความเสียหายต่อ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร ?