เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

“คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะอยู่อย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแบบไม่แผน” บางคนตื่นนอนขึ้นมายังไม่รู้ว่าวันนี้จะทำอะไร อาทิตย์นี้ เดือนนี้ ปีนี้ เหมือนว่างเปล่า

ปีใหม่ 2568 ขอฝากข้อคิดและประสบการณ์ของนักศึกษาในโครงการ “มหาวิทยาลัยชีวิต” ที่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานที่คงไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยไหน คือ “วิชาวางเป้าหมายและแผนชีวิต”

นักศึกษาเรียนวิชานี้โดยทำแผน 4 แผนสำหรับตนเอง คือ แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ และทำ “โครงงาน” เพื่อพัฒนาตนเอง

จรัล เทพพิทักษ์กับภรรยาเป็นคนต่างจังหวัด ไปทำงานที่กรุงเทพฯ บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ เงินรับจ้างที่ได้มาใช้หมดทุกเดือน ไม่มีเหลือเก็บ ซ้ำเป็นหนี้อีก เพราะไปกู้เพื่อน กู้นายจ้าง โดยเฉพาะหน้าเทศกาลที่กลับบ้าน ซื้อข้าวของไปฝากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง แล้วไปกินเหล้าไปฉลองกับเพื่อนอีก

เช่นนี้ชั่วนาตาปี วันหนึ่งจรัลปรารภกับภรรยาว่า เรามาทำงานกรุงเทพฯ 20 ปี ชีวิตไม่มีอะไรดีขึ้น อายุก็มากแล้ว ต่อไปจะอยู่อย่างไร ที่สุดตัดสินใจกลับบ้านที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

 

ภรรยาเอาสร้อยคอที่เก็บหอมรอมริบซื้อไว้เผื่อยามฉุกเฉินไปขาย ได้เงินไปซื้อจานชามหม้อไห ได้รถเข็นเก่าๆ คันหนึ่ง ตื่นแต่เช้าตีสองตีสาม ทำอาหาร กับข้าวไปขายแถวตลาดในอำเภอ

 

จรัลเล่าว่า ขายดี แต่ไม่มีเงินเก็บเหมือนอยู่กรุงเทพฯ เลย เพราะอยากกินอะไรก็กิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ ตอนเย็นๆ เหนื่อยๆ ก็กินเหล้ากับเพื่อนบ้าง กินคนเดียวบ้าง

เมื่อมาเรียนใน “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” จึงรู้ว่า การวางแผน 4 แผน ทำให้เขามีเงินเก็บวันละ 500-800 บาท จรัลเรียนยังไม่ทันจบปริญญาตรีก็มีเงินไปดาวน์ซื้อนาได้ 13 ไร่

เขาเล่าเรื่องของเขาบนเวทีเพื่อบอกว่า เรียนอย่างไรถึงจะไม่ได้เพียงกระดาษแผนเดียวและเป็นหนี้ เรียนอย่างไรไม่เสียวัว เสียควาย เสียไร่ เสียนา แต่เรียนแล้วได้นา ได้ปัญญา ได้เงิน ได้ชีวิตที่พอเพียงและมั่นคง

1. การวางแผนชีวิต คือ อยู่อย่างมีเป้าหมาย ใช้เวลาให้เป็น จัดการเวลาอย่างมีคุณค่า จัดการหน้าที่การงาน จัดความสำคัญก่อนหลัง ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง มีสมาธิ มีความมุ่งมั่น ไม่เอาแต่ฝันเลื่อนลอย      

2. การวางแผนอาชีพ คือ ทบทวนอาชีพที่ทำอยู่ว่ามีปัญหา มีจุดอ่อนอะไร ใช้ข้อมูลความรู้เพียงพอเพื่อทำให้อาชีพที่ทำประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ทำนาทำสวน การเกษตร ค้าขาย รับจ้าง หรือการประกอบการส่วนตัว

ถ้าอาชีพเดิมไม่เหมาะ หรือไปไม่ได้แล้ว จะทำอาชีพใหม่อะไร จะปรึกษาใคร หาข้อมูลอย่างไร เรียนรู้เพื่อพัฒนางานใหม่อย่างไร  ไม่วิ่งตามกระแสโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้  เรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่นที่ประสบความสำเร็จได้ แต่ไม่ใช่เลียนแบบ ทำอย่างไรจึงจะ “คิดใหม่ทำใหม่” ได้

3. การวางแผนการเงิน คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย หนี้สิน ประเมินตนเองว่า ใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผลเพียงใด อะไรที่ลด ละ เลิกได้เพราะไม่จำเป็น หรือจำเป็นน้อย ไม่มีก็อยู่ได้ กินอยู่แบบพอเพียง

การบริหารจัดการเงินก็เป็นการจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเช่นเดียวกับการบริหารจัดการเวลา อะไรสำคัญมากสำคัญน้อย จำเป็น ไม่จำเป็น อะไรที่รอได้ อะไรที่ไม่ควรซื้อเลย ไม่ว่ามีเงินมากเงินน้อยก็ควรมีการออม ไม่ว่าจะเป็นกระปุก หรือออมเข้าบัญชีธนาคาร

หลายปีก่อน ตอนอยู่ที่ห้วยขวาง กรุงเทพฯ มีชายถีบสามล้อขายไอศกรีมผ่านมาหน้าบ้าน อุดหนุนแกบ่อยๆ จนสนิทกัน แกเล่าว่า เป็นคนเชียงใหม่ พ่อเคยเป็นทหาร มาจากทางใต้ ได้แม่คนเชียงใหม่เป็นภรรยา วันหนึ่งก่อนปีใหม่ถามว่า จะกลับไปบ้านที่เชียงใหม่ไหม แกตอบว่า ไม่ไป จะไปตอนสงกรานต์

“ปิ๊กบ้านไปแอ่วสงกรานต์หรือ” ผมถาม แกบอกว่า เปล่าครับ จะไปจ่ายค่าเทอมลูก ถามว่าเรียนที่ไหน แกบอกว่าเรียนที่ “มช.” (ม.เชียงใหม่) ผมถามต่อว่า ไปกู้เงินใครหรือ เขาตอบว่า เปล่าครับ ไปเบิกเงินจากบัญชีธนาคารของผมเอง เขาขยายความโดยยังไม่ได้ถาม (ด้วยความภูมิใจ) ว่า

“ตั้งแต่ลูกเกิดมา ผมออมให้เขาทุกวันจากการขายไอศกรีม ได้มากก็ออมมาก ได้น้อยก็ออมน้อย ไม่เคยขาด” ผมรุกต่อด้วยความชื่นชม “ถามได้ไหมว่า 20 ปีนี่ออมได้เท่าไร” เขาตอบว่า “สามแสนกว่าบาทครับ”

 

4. การวางแผนสุขภาพ คือ การจัดการการกินการอยู่ การทำงาน การพักผ่อนนอนหลับ โดยยึดหลักว่า “ยาดีที่สุดคืออาหาร โรงพยาบาลดีที่สุดคือครัว หมอดีที่สุดคือตัวเราเอง”

 

อดีตประธานกลุ่มสตรีที่บุรีรัมย์ในวัยเกือบ 60 เรียนใน “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” เล่าว่า “อีฉันเรียนมาสามมหาวิทยาลัย ไม่จบสักแห่ง” ผมถามว่า “แล้วเรียนที่นี่จะจบหรือ” เธอเรียนมาสองปีแล้ว ยิ้มกว้างตอบว่า “จบสิคะ เพราะอีฉันเอาชีวิตของตัวเองมาเรียน”

เธอเล่าว่า ในการทำแผนสุขภาพ เธอวางแผนจัดการอาการปวดศีรษะที่เป็นมาหลายปีด้วยคำแนะนำจากอาจารย์เรื่องการกิน การอยู่ การออกกำลังกาย ลดความเครียด จนที่สุดเธอทำโครงงานพัฒนาตนเองเรื่อง “การลดความเครียดและอาการปวดศีรษะ” ได้สำเร็จตั้งแต่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ

คุณอนงค์พรรณ จันทร์แดง คนแม่วาง ทำงานที่โรงยพาบาลชุมชน เรียนใน “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” จนจบปริญญาตรีและโท เธอเล่าเรื่องการจัดการชีวิตของตนเองและครอบครัวอย่างละเอียดว่า เธอทำ 4 แผนแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างไร ยังเหลือแต่ “สามี” ที่ยังไม่เปลี่ยน แต่ด้วยความพยายาม ความจริงใจ เธอเปลี่ยนชีวิตสามีที่เคยได้แต่กินเหล้า เข้าป่าล่าสัตว์ ไม่ใส่ใจลูกเมีย เธอมีรายละเอียดที่ไม่อาจเล่าที่นี่

เธอพูดบนเวทีด้วยความภูมิใจว่า “ดิฉันเรียนมหาวิทยาลัยชีวิต น่าจะได้อะไรมากกว่าใครๆ เพราะนอกจากปริญญาวิชาการและปริญญาชีวิต จนชีวิตตนเองดีขึ้นแล้ว ยังได้สามีกลับคืนมา”

ขอให้ปีใหม่นี้ทุกท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ได้สิ่งดีๆ ที่ปรารถนา อยู่อย่างมีเป้าหมายและมีแบบมีแผน