ยุทธศาสตร์การเดินหน้าตามสไตล์ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาโดยตลอด นั่นคือการขยับในลักษณะที่เรียกว่า สองขา ทั้งผ่านกลไกอำนาจ ของ รัฐบาล ควบคู่ไปกับ งานการเมือง
แม้ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย จะอ่อนแอลงไป หลังการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทำให้พรรคต้องอยู่ในสภาพ ฝ่ายค้าน ที่ไม่สามารถ งัดง้างกับ ขั้วอำนาจ 3ป. ในวันวานได้ ด้วยสภาพในเวลานั้น พรรคเพื่อไทย จึงทำได้แต่การประคองตัวตลอดระยะเวลากว่า 8ปีที่ผ่านมา
แต่ในครั้งนั้น ทักษิณ ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ และพรรคเพื่อไทย ไม่มี อำนาจรัฐ อยู่ในมือ เมื่อวันนี้สถานการณ์เปลี่ยน เกมการต่อสู้ เข้าทาง ทุกประตู จึงทำให้ได้เห็นว่า ทั้ง ทักษิณ - พรรคเพื่อไทย และนายกฯแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงเดินหน้าไปในลักษณะสอดประสานกัน
การเคลื่อนไหวของทักษิณ ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าเขาเองมองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เรื่อง ความเหมาะสมว่า ใครคือนายกฯตัวจริง อีกต่อไป จะด้วยเพราะประเมินได้ว่า พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่มี นายกฯแพทองธาร ยังมีภารกิจ ที่ต้องเดินหน้าต่อ เพราะอย่างน้อยที่สุด วันนี้ย่อมพบว่า พรรคประชาชน ถูกลดทอนกระแส อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม !
กว่าจะถึงวันเลือกตั้งรอบหน้าซึ่งอาจจะเร็วกว่า ปี 2570 หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม จึงยังไม่มีใครการันตีได้ว่า ทีมงานของ พรรคประชาชน จะปลุกและ ปั้นกระแสให้กับ เท้ง ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ได้อย่างไร จะทันการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งหรือไม่
ยิ่งเมื่อ การเมืองสนามเล็ก คือการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยังไม่ปรากฏว่า พรรคประชาชน จะมีชัยชนะ ในสนามใดได้เลย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากทักษิณ จะทำหน้าที่ คิด แล้วให้ นายกฯแพทองธาร และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะรัฐมนตรีของพรรค นำไป ทำ ให้เกิดเป็น รูปธรรม ขึ้นมาได้ !
อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลและโดยเฉพาะ นายกฯแพทองธาร ระมัดระวังมากที่สุด ! ย่อมไม่ใช่เสียงโจมตี จาก ฝั่งตรงข้าม หรือการก่อม็อบ ปลุกมวลชนลงถนน เหมือนในอดีตอีกต่อไป
หากแต่มีรายงานว่า ในระหว่างที่ แพทองธาร ยังนั่งอยู่หัวโต๊ะครม. เป็นผู้นำรัฐบาลนั้น ทักษิณ จะต้องหลีกเลี่ยง การส่งคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับ คุณสมบัติ เข้ามารับตำแหน่ง ทางการเมือง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ คนที่ 30 มาแล้ว เพราะนายกฯอิ๊งค์ จะไม่ยอมรับความเสี่ยงดังกล่าว แล้วตกเก้าอี้ตามรอย เศรษฐา แน่นอน
ฉะนั้น แม้จะมีความพยายามจะ เปลี่ยนตัวเล่น ตามโควต้าของบางพรรคการเมือง ที่อยู่ร่วมในครม. จึงประเมินว่าจะไม่กระทบนายกฯอิ๊งค์
ด้วยเหตุนี้ แม้ทักษิณ จะมี มือทำงาน ทั้งที่มีอยู่แล้ว หรือ เพิ่มเข้ามาใหม่ จึงต้องถูกวางตำแหน่งเอาไว้นอกครม.ตลอดไป !