ศึกษาคติธรรม จากพระธรรมเทศนาพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) อันเกี่ยวเนื่อง “ปีใหม่” กันต่อในฉบับนี้   ดังนี้                

“ ตัวอย่างที่ท่านอาจสังเกตเห็นได้ง่ายๆ ก็เช่นว่า ถ้ารถไฟสองขบวนแล่นเคียงกันไปในความเร็วที่เท่ากันไอ้คนที่นั่งมองหน้าต่างจ่อหน้าซึ่งกันและกันก็จะไม่รู้สึกว่ารถไฟนี้วิ่งไปเพราะมันเคลื่อนไปพร้อมกัน นี่แหละคือความโง่ของคน ที่มันเคลื่อนไปพอดีกันกับความเปลี่ยนแปลงของ อดีต อนาคต ปัจจุบัน มันก็ทำให้เห็นเป็นเรื่องที่ว่า มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่เห็นว่ามีอดีต อนาคต ปัจจุบัน แต่เพราะว่าไอ้ความโง่นั้นมันมีมากไม่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นมันจึงมีอดีต มีอนาคต มีปัจจุบัน เราจะต้องระวังไม่ให้ถูกหลอกเช่นนี้จึงจะถอนตัวออกมาเสียได้จากความโง่ชนิดนั้น และรู้สึกว่า อดีต อนาคต ปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องหลอก เป็นเรื่องมายา

ที่พูดกันว่าปัจจุบันนั้นหาได้เป็นปัจจุบันจริงไม่ คือในกระแสของความเปลี่ยนแปลงนั้นมันมี อดีต อนาคต ปัจจุบัน แต่เพียงสมมติเท่านั้นมิได้มีอยู่จริงเลย คือถ้าจะพูดว่าปัจจุบันมันก็ปัจจุบันแต่ในภาษาคนหาใช่ปัจจุบันในภาษาธรรมไม่  เพราะว่าปัจจุบันในภาษาธรรมนั้นต้องหมายถึงสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นความว่างเป็นต้น ถ้าผู้ใดได้ศึกษาพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าความว่างเป็นต้นนั้นหรือจะเรียกว่า พระนิพพาน หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามใจ มันไม่มีความเปลี่ยนแปลง   

 เมี่อไม่มีความเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นอะไรอยู่อย่างนั้นเอง มันจึงเป็นปัจจุบันอยู่ที่นั่น คือไม่อาจจะเป็นอดีต หรือเป็นอนาคต แต่อย่าลืมว่าที่พูดว่าปัจจุบันในที่นี้ก็หมายถึงปัจจุบันในภาษาธรรมไม่ใช่ในภาษาคน ปัจจุบันที่มีอยู่จริงนั้นเป็นปัจจุบันที่มีอยู่ในภาษาธรรมคือความไม่เปลี่ยนแปลง เราจะต้องรู้จักสิ่งที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง เท่าที่พูดกันถึงมากที่สุดก็คือสิ่งที่เรียก นิพพาน แต่นิพพานก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความว่างจากตัวตน    สุญญตา หรือความว่างเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรจะกล่าวได้ว่าเป็นปัจจุบันที่แท้จริง คือมันเป็นอดีตไม่ได้ เป็นอนาคตไม่ได้ ถ้ามันไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป  มันมีอะไรที่มากเกินไปกว่าความตั้งอยู่ตามความหมายของคนธรรมดาสามัญ  คนธรรมดาสามัญแม้พูดว่าปัจจุบันก็หมายความว่ามันเปลี่ยนเป็นอดีตได้  แต่ในทางภาษาธรรมนั้นถ้าพูดว่าปัจจุบันแล้วหมายความว่าไม่ได้เปลี่ยนเลย ดังนั้นมันจึงมีอยู่โดยไม่ต้องมีความมี มันจึงตั้งอยู่โดยไม่ต้องมีการตั้งอยู่อย่างนี้เป็นต้น นี้คือปัจจุบัน  เมื่อใด บุคคลใด มีจิตใจเข้าถึงความว่างคือปราศจากตัวกู ของกูแล้วก็เรียกว่าเข้าถึงปัจจุบัน เข้าถึงธรรมะที่เป็นปัจจุบัน หรือเป็นปัจจุบันธรรม จิตใจชนิดนี้เท่านั้นที่น่าจะเรียกว่าเป็นจิตใจใหม่  เวลาของบุคคลนั้นก็กลายเป็นเวลาใหม่ไปด้วย  เขาเป็นผู้สามารถมีอำนาจเหนือเวลาทำให้เวลากลายเป็นของใหม่ขึ้นมาได้เพราะการทำให้มีจิตใจใหม่ขึ้นมาได้โดยการเข้าถึงสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง

ใจความในส่วนนี้ก็มีแต่เพียงว่าสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงและเป็นปัจจุบันอยู่เรื่อยนั้นก็คือ ความว่าง  ผู้ใดเข้าถึงความว่างผู้นั้นก็เข้าถึงความใหม่ ความใหม่ของอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ความใหม่ของจิตใจ ความใหม่ของร่างกาย ความใหม่ของวันคืน เดือน ปี ความใหม่ของอะไรๆ ทุกอย่างไปหมดเพราะว่าเขาได้เข้าถึงสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงคือ เป็นปัจจุบันในความหมายทางภาษาธรรมนั้นเอง  ปัจจุบันในความหมายทางภาษาคนนั้นเป็นของหลอก เป็นของมิได้มีอยู่จริงแล้วคนก็เข้าถึงอยู่เรื่อยด้วยอาการหลอกๆ ไม่รู้สึกตัว เหมือนคนนั่งในรถไฟสองคนที่วิ่งไปสองคันพร้อมๆ กันฉันใดก็ฉันนั้นมันก็โง่ไปตลอดกาลไม่มีทางรู้ได้ว่ารถไฟกำลังวิ่ง คนโง่เหล่านี้ไม่มีทางที่รู้ได้ว่าอดีต ปัจจุบัน อนาคตนี้มันไหลวิ่งไป จนไม่มีอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต มันไปเห็นเป็น มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต เสียเรื่อยมันจึงได้ติดอยู่ในวัฏฏสงสาร  พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า “ไม่ติดอยู่ข้างต้น ไม่ติดอยู่ข้างปลาย ไม่ติดอยู่ที่ตรงกลางก็จะหลุดพ้นได้” 

(https://www.pagoda.or.th/buddhadasa/2512.html)