ทวี สุรฤทธิกุล
มรดกที่น่ากลัวที่สุดคือ “ความแตกแยก”
ภายใต้ “ระบอบ คสช.” ที่ปกครองประเทศมากว่า 4 ปี (ความจริงก็คือ “ระบอบนายทุนขุนศึก” ที่ก่อตัวมาในตอนต้นพุทธทศวรรษ 2500 และยังฝังแน่นอยู่ในสังคมไทยมากว่า 60 ปีนี้ อันหมายถึงการเข้าครอบงำทางการเมืองของคณะทหารร่วมมือกันกับเหล่าพ่อค้าวาณิชย์ สร้างฐานอำนาจและกอบโกยความมั่งคั่ง ที่สุดนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ควรจะมีอำนาจมากที่สุดตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีความพยายาม “โงหัว” ขึ้นมา อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 แต่ทหารก็กลับมายึดอำนาจคืนมาได้โดยตลอด กระทั่งทุกวันนี้ใครที่อยากมีอำนาจก็ต้อง “ยอมก้มหัว” อยู่ภายใต้ระบอบนี้ ดังที่ได้เห็นนักการเมืองและพรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง ที่ต้องยอมก้มหัวลงไปอยู่ใต้ท้อปบู๊ต) ได้สร้าง “รอยแยก” ให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยอย่างน่ากลัว
แต่เราก็คงจะไปโทษทหารเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะภาพที่ปรากฏก็คือ “การสมคบคิดกันอย่างเป็นระบบ” ของทั้งทหาร พ่อค้า และนักการเมือง ที่พยายาม “สานสัมพันธ์” กันมาโดยตลอด ในทำนองเดียวกันในเวลาที่นักการเมืองขึ้นมามีอำนาจ ทหารและพ่อค้าก็เข้ามา “เกาะแข้งเกาะขา” นักการเมืองเสมอมาเช่นกัน อย่างที่ตำรารัฐศาสตร์เรียกการเมืองแบบนี้ว่า “การเมืองที่ครอบงำโดยชนชั้นนำ” สำหรับในประเทศไทยก็จะหมายถึง ทหาร(รวมกับข้าราชการ) พ่อค้า และนักการเมือง ซึ่งคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ต่างก็มี “รอยแยก” อยู่ในตัวอยู่แล้ว นั่นก็คือ ทหารและข้าราชการก็จะ “มีพวก มีรุ่น มีนาย” ในขณะที่พ่อค้าก็จะมี “กลุ่มธุรกิจ” ที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง และนักการเมืองก็จะมี “ก๊ก ก๊วน มุ้ง ค่าย” ที่วิ่งเข้าจับขั้วอำนาจกันอย่างวุ่นวายเช่นเดียวกัน
ตอนที่ผู้เขียนเรียนวิชาสังคมวิทยาในชั้นปี 1 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ 40 กว่าปีก่อน อาจารย์ท่านบอกว่าตามตำราของฝรั่งสังคมไทยเป็นสังคมที่มี “โครงสร้างทางสังคมอย่างหลวมๆ” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Loosely social structure”) คือมีลักษณะความสัมพันธ์ของผู้คนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และผลประโยชน์ รวมถึงการเลื่อนไหลทางฐานะในสังคมก็เป็นไปอย่างสะดวกและเสรี โดยได้ยกตัวอย่างระบอบศักดินาของไทย ที่มีการเปลี่ยนเจ้าเปลี่ยนนายของไพร่นั้นอยู่เสมอ รวมทั้งไพร่หากมีความสามารถหรือมีฐานะมั่งคั่งขึ้น ก็อาจจะขยับขึ้นเป็นขุนนาง รวมถึงขุนนางเองหากมีกำลังแข็งกล้า ก็อาจจะสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ ซึ่งถ้าหากเราจะมามองสังคมไทยในปัจจุบัน คนไทยก็ยังมี “การเลื่อนไหล” ไปตามขั้วอำนาจนั้นอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าสังคมไทยนั้นยังคง “หลวม” และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ
ในทางตรงกันข้าม คณะผู้ปกครองชุดนี้ได้พยายามที่จะเข้าครอบงำการเมืองไทย โดยการวางโครงสร้างทางการเมืองในลักษณะ “พันธการอย่างแน่นหนา” ดังที่ได้เห็นอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ คือใช้กลไกตามกฎหมายเหล่านั้น “ควบคุม” พรรคการเมืองและกลไกการเมืองอื่นๆ เช่น ระบบราชการ และภาคประชาชน ให้ต้องปฏิบัติตาม “กติกาและเกม” ที่คณะผู้มีอำนาจนี้ต้องการ โดยการใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ และการวางผู้คนเข้าไปในโครงสร้างส่วนต่างๆ ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือวุฒิสภา หรือแม้แต่ในสภาผู้แทนราษฎรเองสร้างไว้ให้มีความแตกแยกกัน นั่นก็คือการทำให้พรรคการเมืองและอำนาจของประชาชนอ่อนแอ เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ครอบงำและอยู่ในอำนาจนั้นไปอย่างยาวนาน
“รอยแยก” ที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้นโยบายประชารัฐ “ประจาน” สังคมไทยว่าเป็น “สังคมแห่งศักดินายุคใหม่” ที่ผู้ปกครองนี้คือ “ผู้มาโปรดเวไนยสัตว์” โดยทำให้เห็นว่าคนไทยนี้ยังมีผู้ทุกข์ยากโหยหาอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นจะต้องใช้นโยบาย “โปรยทาน-เทกระจาด” ให้แก่เวไนยสัตว์เหล่านั้น แต่ผลกรรมที่จะเกิดขึ้น(และน่าจะเกิดขึ้นแล้ว)ก็คือ การสร้าง “ลัทธิพึ่งพิง” ที่ทำให้คนไทย “โงหัวใม่ขึ้น” และ “เสพติดความช่วยเหลือ” ที่จะให้ได้ก็แต่ผู้ที่มีอำนาจแบบเผด็จการนี้เท่านั้น ในที่สุดสังคมไทยก็จะย้อนรอยไปสู่อดีตในระบบไพร่ ที่ต้องมีเจ้าขุนมูลนายคอยดูแล อย่างที่ใช้คำว่า “ศักดินายุคใหม่” นั่นเอง
ศักดินาในยุคใหม่ยังได้สร้างให้สังคมไทย “ไม่ละอายเกรงกลัวต่อบาป” เพราะผู้มีอำนาจทั้งหลายท่านถือตนว่ามีอำนาจวาสนาเหลือล้น จะทำอะไรที่ขัดต่อ “จริยธรรมและศีลธรรมอันดี” ก็ได้ เช่น การ “ชะลอ” คดีทุจจริตร้ายแรงให้ล่าช้า(จนคนอาจจะลืม) หรือทำดูเหมือนว่าองค์กรอิสระเหล่านั้นอยู่ภายใต้ความ “เกรงกลัวอิทธิพล” รวมทั้งที่สร้างภาพความยิ่งใหญ่ให้คนทั้งหลายสยบ อย่างเช่น การจัดเลี้ยงโต๊ะจีนเพื่อหาเงินเข้าพรรคที่สนับสนุนผู้มีอำนาจ ที่สามารถทำได้โดยองค์กรอิสระไม่กล้าแตะต้อง(ตรวจสอบ) ที่สุดก็จะเกิด “ศักดินาในหัวใจ” คือคนไทยที่อยากใหญ่อยากโตก็ต้องเข้าหาผู้คนเหล่านี้ เพราะเขาสามารถทำอะไรก็ทำได้ ทำนองเดียวกันถ้าเราอยากได้อะไรเขาก็จะสามารถหาหรือทำให้เราก็ได้เช่นเดียวกัน
ในอดีตแม้สังคมไทยจะมีระบบ “ข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย” แต่ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ก็ยังทำให้สังคมไทยยังคงความเป็นปึกแผ่น มีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกันด้วยดี แต่ภายใต้ระบบ “แยกพวกแล้วปกครอง” ที่ผู้มีอำนาจดำเนินการอยู่นี้ อาจจะทำลายมรดกอันดีงาม คือความรักความสามัคคีของคนไทยที่เคยมีมาอย่างยาวนานนั้นได้ง่ายๆ
น่าเศร้าใจที่มันกำลังจะเกิดจากการเลือกตั้งในปีหน้านี้