ก้าวเดินของการขับเคลื่อนการต่อสู้ระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ จชต. กำลังจะผ่านพ้นไปอีกปีหนึ่ง และกำลังย่างก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวังของทั้งสองฝ่าย จากบาดแผลและความเจ็บปวดที่ทั้งรัฐและกลุ่มผู้เห็นต่างได้รับจากการต่อสู้กันมาในห้วงเวลาที่ยาวนาน ย่อมสร้างบทเรียนสำคัญให้ทั้งสองฝ่ายได้นำไปปรับเป้าหมายและแนวทางที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ได้รับบทเรียนราคาแพงว่า ตลอดระยะเวลาที่ขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐ ทำให้พละกำลังและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ได้วาดหวังไว้ ได้รับการตอบสนองจากรัฐไทยอย่างชาญฉลาด จนพละกำลังในการต่อสู้ของขบวนการลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก การได้รับความร่วมมือจากแนวร่วมขบวนการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ เริ่มลดน้อยถอยลง ด้วยการตระหนักรู้ว่า รัฐไทยได้ให้สิ่งที่ดีกว่าความหวังอันลางเลือนของบรรดาแกนนำขบวนการที่ยังจับต้องไม่ได้เลยแม้แต่น้อย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย ประชาชนในพื้นที่ต่างรับรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า รัฐไทยได้ให้ความอยู่ดี มีสุข พัฒนาความเจริญ ให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่พี่น้องคนในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด ลูกหลานอันเป็นที่รักของคนในพื้นที่ ได้รับการดูแลอุดหนุนเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พี่น้องคนในพื้นที่มีงานทำ ได้เงินจากการจ้างงานของรัฐในหลากหลายรูปแบบ คนในพื้นที่ได้รับการยอมรับ ให้เกียรติ สร้างโอกาสในการดำรงชีวิตตามวิถีทางที่คนในพื้นที่ต้องการอย่างทั่วถึง เหล่านี้คือความกินดี อยู่ดี มีสุขที่รัฐไทยหยิบยื่นให้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะมีความเห็นต่างที่บรรดาแกนนำกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้นระหว่างคนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐตลอดจนพี่น้องชาวไทยพุทธตลอดมา
รวมทั้งการที่รัฐได้ให้โอกาสในการกลับเข้ามาร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของตน ให้โอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของทุกคนอย่างปกติสุขโดยไม่ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ อย่างลำบากยากเข็ญอีกต่อไปด้วย “โครงการพาคนกลับบ้าน” ของฝ่ายความมั่นคง ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลที่เป็นจริง ดังประชาชนรากหญ้าในพื้นที่อย่าง นาย อัปเสาะ มาหามะ ชาวจังหวัดปัตตานี ที่มองว่า “เราอยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว แค่อย่าให้ของแพง ให้ของราคาถูก ยางราคาดีขึ้น ทุกอย่างก็ใช้ได้ ไม่เห็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แค่นี้ชาวบ้านก็พอใจ รัฐบาลไม่มากดหรือรังแกชาวบ้าน เด็กๆได้เรียนหนังสือ ได้มีความรู้ ต่อไปก็จะดีขึ้นเอง เรื่องเขตปกครองพิเศษคิดว่าไม่ต้องก็ได้ เพราะเราอยู่แบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปปกครองตัวเอง ไม่ต้องไปแบ่งแยกดินแดนแล้ว ปรับเปลี่ยนอะไรนิดหน่อย ทุกอย่างก็ดีขึ้น และน่าจะทำได้จริงด้วย”
ในขณะที่กลุ่มแกนนำของขบวนการปกครองตนเอง ก็ยังคงพยายามดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองตนเองอย่างไม่ลดละ เพียงแต่อยู่ในสภาวะจำยอมให้ต้องลดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ลง ให้เป็นเพียง “เขตปกครองพิเศษ” อันเป็นเป้าหมายที่ยังคงได้มาซึ่งอิสระในการปกครองตนเองอยู่ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ได้เต็ม 100 ดั่งเช่นที่เคยวาดหวังไว้ หากแต่ก็ยังรักษาความรู้สึกไว้ได้ว่า ขบวนการของพวกเขา ไม่ได้พ่ายแพ้รัฐไทยเสียทีเดียว และอาจเป็นขั้นแรกที่อาจก้าวเดินต่อไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นก็เป็นได้ ดังคำกล่าวของ อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นที่หันหลังให้กับขบวนการแล้ว แต่ยังพำนักอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่กล่าวว่า โมเดล “เขตปกครองตนเอง” เป็นสูตรสำเร็จที่ทุกคนในขบวนการเข้าใจมาตลอด และเคยมีการสรุปร่วมกันนานแล้วว่า “การแบ่งแยกดินแดนเพื่อประกาศเอกราช คือเป้าหมายสูงสุดที่กลุ่มขบวนการตั้งไว้” แต่การต่อสู้ที่ดำเนินมาตลอด 20 ปี ยังไม่มีทีท่าว่าฝ่ายขบวนการจะได้รับชัยชนะ ตรงข้าม ฝ่ายขบวนการที่มีกำลังรบน้อยกว่ารัฐไทยหลายขุม มีแต่จะสูญเสีย ฉะนั้นเขตปกครองตนเอง หรือเขตปกครองพิเศษ จึงเป็นเป้าหมายรองที่เตรียมไว้อยู่แล้ว ด้วยกล่าว่า “เรารู้มาตลอดว่าการใช้อาวุธไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องหรือจะนำไปสู่ชัยชนะได้ ดังนั้นทุกคนจึงร่วมหารือกันว่า เป้าหมายรองลงมาคือการปกครองตนเอง ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าเราแพ้ หมายความว่าได้มาครึ่งหนึ่งของเป้าหมายก็ยังดีกว่าแพ้หรือต้องสูญเสียประชาชนต่อไป เราเชื่อว่าถึงที่สุดชาวบ้านก็จะเห็นด้วย”
แม้แกนนำขบวนการผู้เห็นต่างเหล่านี้ จะยอมลดราวาศอกลงให้เหลือเพียง “เขตปกครองพิเศษ” ที่อาจมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างออกไปจากท้องถิ่นอื่น หากแต่รัฐไทย ก็ยังคงสงวนท่าทีต่อสัญญาณที่ส่งมาจากแกนนำขบวนการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความรอบคอบต่อการดำเนินการให้มากที่สุด ดังคำให้สัมภาษณ์ของ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ที่กล่าวว่า “เรื่องนี้ต้องพิจารณากัน เพราะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ เรามีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว ซึ่งคณะพูดคุยฯต้องไปดูว่า ฝ่ายอำนวยความสะดวกคิดอย่างไร และฝ่ายอื่นๆ คิดอย่างไร” ส่วนจะเป็นเขตปกครองพิเศษเหมือนกรุงเทพฯ หรือเมืองพัทยาได้หรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร ตอบว่า “ต้องดูว่าสามารถทำได้แค่ไหน มีงบประมาณเป็นของตัวเองหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง และยังตอบไม่ได้ว่าหากตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วจะนำไปสู่ความสงบหรือไม่ เพราะไม่รู้อนาคต”
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้ว การยอมลดราวาศอกของแกนนำขบวนการส่วนหนึ่งที่มองว่า ขอเพียง “การปกครองตนเอง แบบ เขตปกครองพิเศษ” นั้น ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่า การขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับรัฐ กำลังเดินไปในแนวทางที่รัฐไทยต้องการ นั่นคือ “การยอมวางอาวุธ หยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ” เพื่อการก้าวย่างสู่สภาวะแห่งสันติสุขให้ได้ก่อน แล้วหันหน้ามาพูดคุยระหว่างกันเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง สะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายตามแนวทางสันติวิธี ซึ่งนั่น จะเป็นโอกาสสำคัญในการลดและขจัดการสูญเสียของทั้งสองฝ่ายโดยไร้เหตุผล นำบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในแนวพหุวัฒนธรรม และร่วมพัฒนาความอยู่ดี มีสุขให้เกิดขึ้นกับทุกชีวิตในดินแดนแห่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงในที่สุด บนหลักการของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐไทยที่ใครจะแบ่งแยกมิได้ ตามกติกาของรัฐธรรมนูญไทยที่มีผลบังคับใช้
และปี 2562 ที่มาถึงนี้ จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายจะได้ประคับประคองความคิดความรู้สึกที่ดีเหล่านี้ และก้าวข้ามความเจ็บปวด เคียดแค้น ชิงชังจากการกระทำของทั้งสองฝ่ายในอดีตให้จงได้ เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่สันติสุขที่ทุกคนต้องการได้ในที่สุด