เสือตัวที่ 6
พลังของสำนึกร่วมในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ปาตานีเป็นปัจจัยสำคัญในการปลุกเร้าให้มวลชนเชื้อสายมลายูเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกการปกครองสู่อิสรภาพจากรัฐไทยได้อย่างทรงพลังที่สุด ส่วนปัจจัยอื่นเช่นการต่อสู้ด้วยอาวุธ การใช้ความรุนแรงทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้คนของรัฐไทยในพื้นที่นั้น เป็นเพียงปัจจัยร่วมเพื่อสนับสนุนให้การสร้างสำนึกร่วมในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์มลายูปาตานีมีพลังมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะได้มีการสืบทอดส่งต่อความสำนึกร่วมในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ปาตานีดังกล่าวไปสู่ผู้คน จากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานนับร้อยปี โดยมุ่งปลุกปั่นสำนึกร่วมในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ปาตานีจนเกิดความรู้สึกเคียดแค้นเกลียดชังต่อคนไทยหรือสยามอย่างเข้ากระดูกดำต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เหล่านี้ที่ได้รับการปลุกปั่นจนฝังแน่นอย่างยากจะเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นได้โดยง่าย ด้วยการใช้ประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียวที่มุ่งสร้างความเกลียดชังอย่างสุดโต่งโดยถ่ายทอดสื่อสารไปด้วยวิธีการอันลุ่มลึกทั้งในชุมชน สถานศึกษาต่างๆ ทั่วทุกพื้นที่
โดยกลุ่มแกนนำขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐกลุ่มนี้ใช้วาทกรรมอันลุ่มลึก หลากหลายในการปลุกระดมสร้างจิตสำนึกร่วมจนเกิดเป็นพลังในการต่อสู้กับรัฐ อาทิ ดินแดนที่เรียกว่าปาตานีแห่งนี้ถูกรุกรานและยึดครองโดยสยามมาเป็นเวลานานนับร้อยปี และเป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดของประชาชาติมลายูมุสลิมปาตานี เนื่องจากในอดีตที่นี่เคยเป็นดินแดนที่รุ่งเรือง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และความบริสุทธิ์ของศาสนาอิสลามเพราะมีการใช้ชารีอะห์และเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนา ที่นี่จึงเป็นดารุสลาม การกดขี่ประชาชาติมลายูมุสลิมปาตานีในปัจจุบันหรือเหตุการณ์ร่วมสมัยสามารถมองเห็นอยู่ทุกวัน ดังนั้นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของคนมลายูมุสลิมปาตานีและการประกาศใช้ชารีอะห์ในดินแดนแห่งนี้ แกนนำขบวนการตอกย้ำสม่ำเสมอว่าประชาชาติมลายูมุสลิมปาตานีต้องเผชิญหน้ากับความอธรรมจากการรุกรานของสยาม และพวกเขามีความพร้อมสำหรับการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีแล้ว รอเพียงจังหวะเวลาที่เหมาะสมแม้จะต้องทำสงครามยืดเยื้อยาวนาน การต่อสู้ทางความคิดเพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมให้เกิดพลังการต่อสู้ ซึ่งต้องอาศัยความอดทนรอคอย
การสร้างสำนึกร่วมในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ปาตานี และศัตรูร่วมที่ชัดเจน โดยการทำให้ประชาชนรู้สึกต่อปัญหาด้วยตัวของเขาเอง จนเกิดเป็นจิตสำนึกในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ปาตานีร่วมกัน นับเป็นประเด็นสำคัญที่แกนนำขบวนการเลือกที่จะใช้เพื่อปลุกเร้าให้สถานการณ์ที่ปาตานีลุกเป็นไฟสงครามที่ยืดเยื้อแม้จะต้องใช้เวลาเพียงใดแต่ก็ต้องอดทนรอคอย โดยต้องมีมวลชนเป็นแนวร่วมสนับสนุนในวงกว้างทั่วทุกพื้นที่ แม้ว่าในห้วงเวลาที่อากีดะห์หรือความศรัทธาของประชาชาติปาตานียังไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะเสียสละเพื่ออิสลาม แต่แกนนำเชื่อมั่นว่านักรบและพลพรรคทุกคนเป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการและเป้าหมายแห่งอิสลามอย่างเข้มแข็ง และอ้างว่าการหลอมรวมมวลชนดังกล่าวนี้ จะต้องได้รับการพิพากษาตรวจสอบในโลกหน้าตามหลักศาสนา และใช้ความลุ่มลึกในการต่อสู้ของขบวนการนี้ด้วยการไม่มีการประกาศตัวขบวนการอย่างชัดเจน เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้เป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่งดังเช่นอดีต แต่หากเป็นการต่อสู้ของมลายูมุสลิมในพื้นที่ทุกคนเพื่อให้ภาพของการลุกฮือของประชาชนมลายูปาตานีทำลายความชอบธรรมการยึดครองของรัฐ
การต่อสู้ในสงครามทางความคิดที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายปีกำลังเดินหน้าไปอย่างไม่เคยหยุดยั้งทำให้ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่ประกอบกันด้วยคนหลากหลายกลุ่มมีความเข้มแข็งทางความคิดมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ฝ่ายรัฐตายใจคิดว่าสงครามเบาบางลงจนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว ขบวนการร้ายแห่งนี้กลับได้โอกาสเร่งทำงานจัดตั้งและขยายมวลชนมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะต้องมารับภาระการปฏิบัติงานเชิงรุกอย่างหลากหลายในระยะต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด การต่อสู้ยังคงดำรงความมุ่งหมายไม่เสื่อมคลาย เป้าหมายแห่งความเป็นเอกราชยังคงดำรงอยู่อย่างเด็ดเดี่ยวและไม่ย่อท้อ ด้วยการปกปิดโครงสร้างทางความคิดและจิตสำนึกร่วมประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ปาตานี ด้วยการบ่มเพาะความเกลียดชังต่อรัฐไทยและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักต่อสู้เพื่อปาตานียังคงเดินหน้าต่อไปทั่วทุกพื้นที่ ควบคู่กับการหนุนเสริมด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธตามจังหวะเวลา ทั้งขยายแนวร่วมให้มากขึ้นกว่านี้ทั้งในระดับชาติและต่างประเทศ โดยเฉพาะงานที่พุ่งเป้าไปยังประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้จนเกิดการเห็นร่วมสนับสนุนในระดับชาติและสากล
การสร้างจิตสำนึกร่วมและกำหนดศัตรูร่วมดังกล่าวด้วยสถานการณ์สงครามเป็นการสร้างหนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเอกราช โดยกล่าวอ้างว่าเป็นสงครามญิฮาด หากแต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ ด้วยแนวทางของบทบัญญัติในศาสนาอิสลาม เนื่องจากเป็นการก่อสงครามที่ผิดเงื่อนไขทางศาสนา รัฐไทยไม่ได้กดขี่และขับไล่ชาวมุสลิมอย่างอยุติธรรมและไม่ได้ลิดรอนสิทธิ์ด้านศาสนาแก่บุคคลใดในดินแดนปัตตานีทั้งในอดีตและปัจจุบัน การสร้างสำนึกร่วมในการต่อสู้ในสงครามอันยืดเยื้อเพื่อไปบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เป็นการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม ฉะนั้น ใครก็ตามที่ใช้วิธีการสร้างจิตสำนึกร่วมในประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ มาใช้ปลุกระดมให้คนเกลียดชังจนทะยานเข้าสู่สงครามกับรัฐไทยโดยอ้างว่าเป็นสงครามญิฮาด จึงเป็นการบิดเบือนเงื่อนไขของสงครามญิฮาดตามหลักการของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน