ล่วงปีใหม่มาสัปดาห์ที่ 2 แล้ว ยังชวนคุณผู้อ่านศึกษาพระคติธรรม จากพระธรรมเทศนาพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) อันเกี่ยวเนื่อง “ปีใหม่” และการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะจิตใจไม่ให้เห่อหรือหลง เป็น “จิตใหม่” และ “ปัจจุบัน”  ดังนี้

“จะยกตัวอย่างสักเรื่องสองเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พอเข้าใจได้ เป็นนิทานของพวกมีสติปัญญา คือพวกที่เรียกกันว่า นิกายเซน คนๆ หนึ่งไปหาพระอาจารย์ไปขอร้องให้พระอาจารย์ช่วยชำระจิตให้บริสุทธิ์ อาจารย์ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาจิตมาดู  ผู้ขอร้องก็เลยงงอยู่สักครู่หนึ่ง ในที่สุดก็เอาจิตมาให้อาจารย์ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง ถึงแม้มีอยู่จริงมันก็เป็นเรื่องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หาปัจจุบันอันใดเป็นตัวกูไม่ได้ ในที่สุดก็ไม่สามารถจะเอาจิตมาให้อาจารย์ช่วยล้างได้ ก็บอกว่าจิตนั้นไม่มีตามความรู้สึกของตนอย่างนี้ อาจารย์ก็บอกว่านั่นแหละล้างเสร็จแล้ว เป็นการล้างจิตให้สะอาดแล้ว คือหายโง่ไปทีแล้วว่า ตัวกูมิได้มี จิตที่จะเป็นปัจจุบันพอที่จะหยิบยกมายื่นให้ดูได้ก็มิได้มี  นี่จงพิจารณาดูเถิดว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นเป็นของไหลเรื่อย และไหลเร็วยิ่งกว่าน้ำไหลจนเราไม่สามารถเอาตรงไหนเป็นปัจจุบัน พูดไม่ทันจบคำมันก็กลายเป็นอดีตไปอย่างนี้ เรียกว่ามิได้มีอยู่สำหรับจะเอามาเป็นของเก่า ของใหม่อะไรได้ ถ้าเก่ามันก็เก่าไปทั้งหมดถ้าใหม่มันก็ใหม่ไปทั้งหมดไม่มีความหมายอะไรเลย จะเรียกว่าจิตไหนเป็นจิตปัจจุบันมันก็ไม่มีเวลาพอที่จะกำหนดลงไปว่าเป็นปัจจุบันได้ เป็นอดีตไปทุกๆ ขณะจิตเช่นนี้ นี่แหละลองคิดดูให้ดีว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้มันก็ไม่มีเก่าไม่มีใหม่ เป็นจิตโง่อยู่ตามเดิมไปหลงติดยึดมั่นในความเป็นอดีต เป็นปัจจุบันและเป็นอนาคต

ทีนี้เรื่องอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะช่วยให้กันลืมได้ดีว่า  พระนักศึกษาองค์หนึ่ง ศึกษาปรมัตถ์มาเป็นเวลาสิบๆ ปีเขียนคำอธิบายที่ลึกซึ้งไว้มากมายเป็นหนังสือหาบใหญ่ๆเต็มหนักอึ้งทีเดียว วันหนึ่งก็หาบเอาคำอธิบายปรมัตถ์เหล่านี้จะไปอวดแสดงแก่เพื่อนฝูงที่เมืองอื่น ไปตามทางหิว ก็แวะข้างทางซื้อขนมอี๋ของอาซิ้มแก่ๆ คนหนึ่ง  อาซิ้มบอกว่าจะขอถามปัญหาสักนิดเดียวเท่านั้นถ้าตอบได้เป็นที่พอใจแล้วก็จะถวายขนมอี๋ให้กินไม่ต้องซื้อ  พระองค์นั้นก็ถามว่า “ปัญหาว่าอย่างไรเล่า”  อาซิ้มก็บอกว่า “ความคิดที่เกิดขึ้นพอเกิดแล้วก็กลายเป็นอดีต  ความคิดที่ยังไม่ได้เกิดก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น  จิตหรือความคิดที่เป็นปัจจุบันอยู่ที่ตรงไหน  ขอให้พระคุณเจ้าช่วยชี้ให้เห็นสักที” พระองค์นี้ก็งง นิ่งอึ้งไปในที่สุด ก็สารภาพว่า “ไม่เห็นว่ามีชีวิตหรือจิตที่เป็นปัจจุบัน”  ยายแก่ก็ถามว่า “ถ้ามันไม่มีชีวิตที่เป็นปัจจุบันแล้วการปฏิบัติของเรามันจะได้ประโยชน์อะไร ก็มิได้มีอะไรที่มีอยู่จริงเช่นนี้”  พระองค์นั้นก็เลยตอบไม่ได้ ยายแก่ก็ไม่ให้ขนมกิน พระก็ละอายจนหายหิวก็เลยเอาพระคัมภีร์ที่เขียนไว้ตั้งหาบหนึ่งนั้นไปเผาไฟเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป เพราะว่าความคิดหรือสติปัญญาเขียนมาตั้งหาบหนึ่งอย่างนี้แล้ว มันก็ยังไม่ตอบปัญหาของยายแก่เพียงคำๆเดียวได้ ตรงที่ว่าจิตไหนนะเป็นจิตปัจจุบัน เอาคัมภีร์เหล่านั้นไปเผาเสียให้หมดแล้วไปทำความเพียรต่อไปอีก เพื่อให้รู้ได้ว่ามันมีจิตไหนที่เป็นปัจจุบันอย่างนี้ 

ท่านทั้งหลายลองคิดดูให้ดีๆ ว่า ตัวอย่างเช่นนี้มันมีความหมายอย่างไร อย่างน้อยที่สุดมันก็แสดงว่าพวกคนโง่เท่านั้นที่จะมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยไม่คำนึงถึงข้อที่ว่าสิ่งต่างๆ มันไหลเรื่อย เมื่อมันมีการไหลเรื่อยก็หมายความว่ามันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเรื่อยจนเราไม่รู้จะเอาส่วนไหนมาเป็นปัจจุบันได้ทันกับเวลา แต่คนก็ยังคิดว่ามันมีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าจะอธิบายกันในข้อนี้มันก็เป็นเรื่องของกิเลส ตัณหา คือความอยากและความยึดมั่นถือมั่น เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ของความอยากเขาก็ว่าเป็นเรื่องใหม่ เปลี่ยนอารมณ์ของความยึดมั่นถือมั่นเขาก็ว่าเป็นเรื่องใหม่ ก็เลยเอาไอ้เรื่องที่แล้วไปนั้นเป็นอดีต และเรื่องใหม่ที่กำลังอยาก กำลังยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้นเป็นปัจจุบัน โดยไม่ต้องรู้ว่าแม้แต่ความอยากหรือความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันก็เปลี่ยน แต่เมื่อมันโง่ทันกันไปกับอารมณ์เหล่านั้นมันก็ดูเหมือนกับว่ามิได้เปลี่ยน เหมือนกับว่าเรามองดูสิ่งที่เดินไปหรือเคลื่อนไปพร้อมๆ กันกับเรา  เราก็ไม่รู้สึกว่ามันมีอะไรเคลื่อนไป” (ยังมีต่อ)

(https://www.pagoda.or.th/buddhadasa/2512.html)