ทองแถม นาถจำนง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระนามเดิมหม่อมราชวงศ์ชื่นทรงเป็นโอรสหม่อมเจ้าถนอม และหม่อมเอม ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2415 วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2488 ได้รับพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอุปัชฌยาจารย์
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคารพนับถือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ พระองค์นี้มาก ท่านเขียนเล่าไว้ว่า
“ในขณะที่เขียนเรื่องนี้ ปรากฏว่าคนไทยกำลังนิยมพระเครื่องกันอย่างหนาแน่นอย่างไม่เคยปรากฏมา แต่ก่อนใครมีความรู้เรื่องพระเครื่อง ก็มีผู้ติดตามฝากตัวเป็นศิษย์ ใครมีพระเครื่องให้เช่า ก็มีลูกค้าติดตามคอยเช่าอยู่เป็นนิจ ใครมีบุญวาสนาใคร่จะแผ่เมตตาหว่านล้อมเอาใจคนไว้ ก็ต้องแจกพระเครื่อง ในกระบวนพระเครื่องทั้งหมด ที่มีผู้นิยมนับถืออย่างแพร่หลายที่สุดเห็นจะได้แก่พระเครื่องที่เรียกกันว่า “พระสมเด็จ”
ในที่นี้ผู้เขียนก็อยากจะคุยอวดพระเครื่องกับเขาบ้าง เพราะผู้เขียนก็มี “พระสมเด็จ” กับเขาอยู่องค์หนึ่งเหมือนกัน ผิดกับคนอื่นแต่เพียงว่า “พระสมเด็จ” ของผู้เขียนเรื่องนี้จะให้ใครก็ไม่ได้ เพราะดูเหมือนจะมีเจ้าของร่วมกันอยู่หลายคน และที่สำคัญที่สุดนั้น “พระสมเด็จ”ของผู้เขียนเรื่องนี้ จะเอามาเลี่ยมทองห้อยคอ ไปไหนมาไหนเหมือนกับเขาก็ไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระเป็น ๆ องค์โต ๆ เท่ากับพระเป็น ๆ องค์อื่น ๆ ถ้าหากจะไปเอาท่านมาห้อยคอท่านก็คงจะเอะอะเอาเป็นแน่ แม้แต่ไม่เคยคิด จะทำถึงเพียงนั้น แต่ไปเลียบเคียงท่านด้วยเรื่องอื่น ๆ ท่านก็ยังเอะอะเอาบ่อย ๆ อยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะว่าไป ผู้เขียนก็ไม่เคยกลัว เพราะรู้ดีอยู่ว่าท่านโกรธใครไม่เป็น ถ้าท่านเมตตาใครมาก ก็ดูเหมือนจะเอะอะกับคนนั้นมากพอ ๆ กัน
เขียนมาเพียงเท่านี้ ก็เห็นจะพอรู้กันแล้วกระมังว่า “พระสมเด็จ” องค์นี้ของผู้เขียนอยู่ที่ไหน ถ้ายังเอาไม่ออกก็จะบอกให้ว่า ท่านอยู่ที่ท่านบวรนิเวศฯ แต่ก่อนคนเรียกท่านว่า “สมเด็จญาณฯ” แต่เดี๋ยวนี้คนเรียกท่านว่า สมเด็จพระสังฆราช มีพระชนมายุครบ 80 ปี อันเป็นเหตุที่ต้องฉลองกันเป็นการเอกเกริกอยู่ ณ บัดนี้ สมเด็จท่านเคยสอนผู้เขียนเรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ ว่า ทุกอย่างเป็น อนิจฺจํ การแก่ เจ็บ ตาย ไม่เป็นของอัศจรรย์ แต่การที่เจ้าพระคุณสมเด็จได้มีชนมายุอยู่มาถึง 80 แล้ว ก็ยังคงรักษาคุณสมบัติต่าง ๆของท่านซึ่งบรรดาศิษย์ทุกคนเคารพบูชาไว้ได้โดยครบถ้วนบริบูรณ์ เหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่ นิจฺจํ ในบรรดาสิ่งที่เป็น อนิจฺจํ ทั้งหลาย คิดดูแล้วก็เป็นของน่าอัศจรรย์ ควรแก่การที่บรรดาศิษย์จะร่วมกันฉลองอยู่
ที่ผู้เขียนเรียกเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชว่า “พระสมเด็จ” ก็เพราะท่านเป็นสมเด็จจริง ๆ ถึงท่านจะยินดีหรือไม่ต่อการเป็นสมเด็จนั้นก็ตาม และที่เรียกท่านว่าเป็น “พระเครื่อง” ก็เพราะท่านเป็นพระเครื่องของผู้เขียนเรื่องนี้จริง ๆ ทั้งที่ท่านจะรู้หรือไม่ก็ตาม แต่ผู้เขียนได้อาศัยอิทธิฤทธิ์และบารมี อันเกิดจากคำสั่งสอนของท่านนั้นคุ้มครองตัวอยู่เป็นนิจ ทำให้อยู่ยงคงกระพัน คลาดแคล้วจากอาวุธต่าง ๆ ไม่เคยมีบาดแผลจากอาวุธในร่างกายเลย และที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ ไม่เคยมีแผลในหัวใจ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เป็นแผลที่เจ็บปวดยิ่งกว่าแผลทางกายมากมายนักหนา
เมื่อก่อนที่ผู้เขียนจะได้มาบวชเป็นลูกศิษย์สมเด็จอยู่ที่วัดบวรฯ ผู้เขียนก็เป็นคนลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีโมโห โทโส มีความโลภ โกรธ หลง และอาฆาตพยาบาท เหมือนกับคนที่เลว ๆ ทั้งหลาย มีชื่อว่าเป็นคนวู่วาม ทำอะไรด้วยอารมณ์ ไม่มีแก่นสารสาระ แต่เมื่อได้เข้าไปบวชอยู่วัดบวรฯ ได้อยู่ใกล้ชิดกับเจ้าพระคุณสมเด็จ ผู้เขียนก็บังเกิดมี “พระเครื่อง” กับเขาขึ้นมาองค์หนึ่ง และเมื่อสึกออกไปแล้ว ถึงจะไปอยู่สาระทิศใดก็จะยังถือพระเครื่ององค์นี้อยู่นั่นเอง ความจริงผู้เขียนเป็นคนบวชนอกพรรษา และบวชไม่ถึงพรรษา การอบรมทางพระธรรมวินัย ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จโปรดประทานแก่นวกะภิกษุเป็นประจำทุกพรรษานั้น ผู้เขียนก็มิเคยได้รับโดยตรงจากพระโอษฐ์ เพียงแต่ได้อ่านหนังสือที่ผู้อื่นเขาได้บันทึกไว้แต่พรรษาก่อน ๆ การศึกษาอบรมอันแท้จริงที่ผู้เขียนได้รับก็คือ การได้รู้ ได้เห็น ได้อยู่ใกล้ชิดกับบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่นอน เป็นวัตถุพยานให้เห็นได้อยู่เสมอว่า พระธรรมวินัยก็ดี หนทางเข้าสู่สันติซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำไว้นั้นก็ดี มิใช่เป็นของล้าสมัย มิใช่เป็นของเหลือวิสัย หากผู้ใดสนใจจะศึกษาจริง สนใจจะปฏิบัติจริง ผู้นั้นก็จะบรรลุมรรคผลต่าง ๆ ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดไว้
เมื่อผู้เขียนสึกจากพระ ก็ทูลถาสมเด็จไปเที่ยวหัวหินในวันรุ่งขึ้น เมื่อสมเด็จรับสั่งถามว่า “จะไปทำไม” ผู้เขียนก็กราบทูลว่า “จะไปสำรอกเอาพระออกในทะเล” สมเด็จก็ทรงพระสรวล และมิได้รับสั่งว่าอย่างใดอีก ที่ผู้เขียนกล้ากราบทูลเช่นนี้ ก็เพราะทราบดีว่าสมเด็จทรงเป็นคนจริง ถ้าใครเป็นพระก็มีพระประสงค์จะให้เป็นพระจริง ๆ แต่ถ้าใครเป็นฆราวาส ก็มีพระประสงค์จะให้เป็นฆราวาสจริง ๆ ความจริงนั้นก็คือความดี ถ้าใครเป็นพระจริงก็ย่อมเป็นพระที่ดี และถ้าใครเป็นฆราวาสจริงก็เป็นฆราวาสที่ดีอีกเหมือนกัน การที่สึกมาแล้วแต่มาบำเพ็ญตนเป็นคนครึ่งพระครึ่งฆราวาส เดินแต่งสากลแขนซ้ายหนีบลูกบวบ ดูจะไม่จริงทั้งสองอย่าง ผู้เขียนจึงต้องไปสำรอกเอาพระออกอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ถึงจะเป็นฆราวาสแล้วก็ตาม ผู้เขียนก็ยังมีพระเครื่องชั้นพระสมเด็จไว้บูชาอย่างฆราวาสทั้งหลาย และพระเครื่องของผู้เขียนก็มาสามารถคุ้มกันอันตรายได้ไม่น้อยกว่า “พระสมเด็จ” องค์อื่น ๆ
ที่เป็นอย่างได้กล่าวแล้วข้างต้น ก็เพราะผู้เขียนได้เห็นพระจริยาวัตรของเจ้าพระคุณสมเด็จ และได้นำเอาพระจริยาวัตรเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือฝึกสอนอบรมใจ ประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายนักหนา จะพรรณนาไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด ในที่นี้ จะพูดถึงประโยชน์ที่ได้รับอย่างเดียว คือความไม่รู้จักโกรธ ความไม่รู้จักโกรธของสมเด็จนั้นเป็นสิ่งแรกที่ผู้เขียนได้เห็น และเมื่อได้เห็นแล้ว ก็รู้สึกจับใจจดจำไว้ได้เสมอ ความจริงสมเด็จทรงตั้งอยู่ในฐานะอันสูง จึงทรงต้องมีภารกิจต่าง ๆ อยู่มากมาย ภารกิจเหล่านี้ บางครั้งก็มีปัญหา บางครั้งก็มีเหตุที่จะต้องกระทบกระเทือนใจ สมเด็จทรงเผชิญกับภารกิจและปัญหาทุกอย่างด้วยความไม่โกรธ ทรงพบปะกับทุกคนในฐานะเป็นมิตรเป็นกันเอง ไม่โกรธใคร ไม่มีเจตนาร้ายต่อใคร ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมียศวาสนาอันสูงส่ง หรือเป็นคนอาภัพต่ำต้อยสักปานใดก็ตาม เพียงแต่ว่าเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับความเมตตากรุณาจากเจ้าพระคุณสมเด็จเสมอเหมือนกันหมดทุกคน ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จจึงทรงมีมิตรมาก มีคนเคารพนับถือเป็นจำนวนมากมาย ดังที่เห็นกันอยู่แล้วในงานฉลองพระชนมายุคราวนี้
บารมีของสมเด็จทางด้านนี้ ได้คุ้มครองผู้เขียนตลอดมา ผู้เขียนซึ่งเป็นคนเจ้าอารมณ์ มีความโลภโกรธหลง มีนิสัยสันดานที่บางลงไปกว่าแต่ก่อน ถึงจะยังไม่หมดจด ก็บางลง และเนื่องด้วยความโกรธนั่นเอง ผู้เขียนก็รู้สึกตัวว่ารอดพ้นจากอันตรายอันจะมาจากผู้อื่น เพราะธรรมดาคนเรา ย่อมไม่ทำอันตรายร้ายแรงแก่คนที่ไม่โกรธ หรือแก่คนที่ในใจจริงอยากเป็นมิตรกับคนอื่น เมื่อผู้เขียนไม่โกรธ ใครก็ย่อมจะไม่เกลียดใครเป็นธรรมดา และเมื่อไม่โกรธไม่เกลียดแล้ว ก็ไม่มีการระแวง การปราศจากความระแวงในคนอื่น ทำให้ผู้เขียนเป็นคนไร้อาวุธ และเมื่อไร้อาวุธเสียแล้ว ผู้เขียนก็มิได้รับอันตรายจากอาวุธ ทั้งนี้เป็นผลทางกายอันเกิดจากความคุ้มครองของ “พระสมเด็จ”
แต่ผลทางใจนั้น มีมากมายยิ่งกว่าที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพราะความเกลียด ความโกรธ ตลอดจนความอาฆาตพยาบาทนั้น ส่วนมากมได้เกิดบาดแผลแก่คนอื่น แต่ทำให้เกิดบาดแผลขึ้นในใจของผู้ที่พกพากิเลสเหล่านี้ไว้ทุกคนไป แผลที่เกิดขึ้นนั้น มีกิเลสต่าง ๆ เป็นหอกดาบทิ่มตำให้ยิ่งเจ็บปวดยิ่งขึ้นไปอีกทุกขณะ หากถอดกิเลสนั้น ๆ ทิ้งเสียได้ แผลในใจก็จะหายและจะไม่มีอาวุธอื่นใดมาทำให้เกิดบาดแผลขึ้นได้อีก
การถูกแทงฟันแล้วไม่เข้า ไม่เกิดบาดแผลแก่ตนนั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้อยู่ยงคงกระพัน คนทั่วไปเชื่อกันว่าจะอยู่ยงคงกระพันได้ ด้วยพระพุทธคุณอันมีพระเครื่องเป็นสัญลักษณ์ ผู้เขียนเรื่องนี้เองพิจารณาดูตนแล้ว ก็เห็นว่าอยู่ยงคงกระพันเอาการอยู่ เพราะแผลภายนอกก็ไม่เคยรับ เนื่องด้วยไม่มีใครสนใจจะมาตีรันฟันแทง แผลภายในก็หายและจะไม่เป็นขึ้นอีก เพราะถอดเอาหอกดาบภายในทิ้งเสียได้แล้ว ทั้งนี้ก็โดยอาศัยพระพุทธคุณเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ชั่วแต่ว่ามี “พระสมเด็จ” อันไม่สามารถจะนำไปเลี่ยมห้อยคอได้ เป็นสัญลักษณ์เท่านั้นเอง ซึ่งความจริงดูก็จะสะดวกดี เพราะการมีพระเครื่องแขวนคอนั้น ก็จำต้องมีทั้งทองคำที่เลี่ยม และสายสร้อยทองคำที่ร้อย ทอคำนั้นเองเป็นเครื่องล่อคมหอกคมดาบให้วิ่งเข้าหาตัวได้ไม่น้อยกว่าอย่างอื่น และถ้าจะว่าตามจริงก็ดูเหมือนจะมากกว่าอย่างอื่นเสียด้วยซ้ำไป การสะสมทรัพย์สมบัติอย่างอื่น ก็มีผลเท่ากับการสะสมเงินทอง ใครมีมาก ๆ แล้วนาน ๆ เอาออกจับสลากเสียให้หมดได้อย่างเจ้าพระคุณท่านทรงทำอยู่เป็นนิจ คนนั้นก็จะสบายใจขึ้นอีกเป็นอันมาก
ผู้เขียนมีพระเครื่องอยู่องค์หนึ่งเพียงเท่านี้ เวลานี้ถ้าจะนับกาลเวลาก็เป็นพระเก่าทีเดียว รูปสังขารของท่านอาจจะต้องสลายไปในวันหนึ่ง แต่บารมีของท่านที่คุ้มครองผู้เขียนเรื่องนี้อยู่ จะยังแข็งแรงตลอดชีวิตของผู้เขียน และตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้เขียนก็เห็นจะไม่ต้องมีพระเครื่ององค์อื่น เพราะรู้เสียแล้วว่า องค์เดียวก็พอ”