แก้วกานต์ กองโชค แม้ว่า ฮิลลารี คลินตัน จะได้รับคะแนนเสียงจาก popular มากถึง 64,227,373 คะแนนเหนือกว่า โดนัล ทรัมป์ ที่ได้รับเพียง 62,212,752 คะแนน แต่นั่นไม่อาจจะทำให้ ฮิลลารี คลินตัน กลายเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐคนที่ 45 ได้ นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายจับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของว่าที่ประธานาธิบดี ซึ่งจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปี 2560 ประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุดคือ นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยลดการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นของไทย โดยระยะเวลาเพียง 2 เดือน ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 59 คือ เดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไปแล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท แม้ว่ายอดรวมสุทธิในปี 2559 ของการลงทุนของต่างชาติยังเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 82,500 ล้านบาทก็ตาม แต่สัญญานของการถอนเงินทุนกลับสหรัฐ มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ตัวแปรหลักคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะ โดยนโยบายของนายทรัมป์ที่จะประกาศในเดือน ม.ค.2560 จะกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการลดการเก็บภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% จะส่งผลให้บริษัทในสหรัฐที่ลงทุนในต่างประเทศดึงเงินลงทุนกลับเข้าสหรัฐ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น” น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย อธิบายผลกระทบของชัยชนะของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจทั้วโลก ในระหว่างการสัมมนาเรื่อง ““มุมมองการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนรอบใหม่” เธอยังบอกอีกว่า ทรัมป์มีนโยบายการปกป้องแรงงานในประเทศ ถ้าพบแรงงานผิดกฎหมาย จะถูกส่งกลับทันที ซึ่งนโยบายของทรัมป์มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง เพราะมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่คาดว่านโยบายจะไม่บรรลุทั้งหมด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐไม่เอื้อต่อการลดภาษี นั่นทำให้ เธอประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีก 1 ครั้ง ในเดือน ธ.ค.2559 ส่วนปีหน้าคาดว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยถี่มาก โดยมีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 1 ครั้งในปลายปี 2560 ปรากฎการณ์ขายหุ้นอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ ภายใตภาวะเศรษฐกิจชะลดตัวของไทย ทำให้รัฐบาลต้องผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มอบของขวัญก่อนปีใหม่ ด้วยการแจกเงินผู้มีรายได้น้อย 5.4 ล้านคน จำนวน 1.2 หมื่นล้าน ทั้งนี้ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท ที่ได้ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 ซึ่งมีผู้ลงทะเบียน 5.4 ล้านคน โดยรัฐจะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนเอาไว้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคม 2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,750 ล้านบาท ผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐแบบ่งออกเป็น 2 กรณี 1) ผู้ที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท 2) ผู้ที่มีรายได้เกินปีละ 30,000 บาท แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท ได้รับเงินคนละ 1,500 บาท ทั้งนี้ บุคคลที่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท ในปี 2558 ที่ไม่ใช่เกษตรกร และได้ไปลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ โดยต้องผ่านการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลจากกรมสรรพากร และกรมการปกครองแล้ว โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออมสิน และกรุงไทย จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีผู้มีสิทธิ์ที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ซึ่งสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ธนาคารแจ้ง หากบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี ธนาคารจะโอนเงินไปยังบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด สำหรับกรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคาร ก็ให้ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝากในธนาคารใดธนาคารหนึ่งจากทั้ง 3 ธนาคาร โดยเงินงบประมาณจำนวน 12,750 ล้านบาท นั้นเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ซึ่งขณะนี้ให้ 3 ธนาคารสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน จากนั้นรัฐจะชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารต่อไป ครม. ยังมีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัด ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอที่จะสามารถดำรงชีพได้ โดยมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ในกรุงเทพมหานคร และปริมลฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) และภูเก็ต จะได้อัตราค่าจ้างเพิ่ม 10 บาทต่อวัน จากเดิม 300 บาทต่อวัน เป็น 310 บาทต่อวัน รวมทั้งยังปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้น 8 บาทต่อวัน เป็น 308 บาทต่อวัน ใน 13 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา ระยอง สงขลา สระบุรี และสุราษฎร์ธานและมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้น 5 บาทต่อวัน เป็น 305 บาทต่อวัน ใน 49 จังหวัด แต่มีการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไว้ที่ 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบการทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 โดยในครั้งนี้เป็นการขยายมาตรการให้ครอบคลุมไปถึงข้าวเปลือกเหนียว จากเดิมที่เห็นชอบช้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 มีวงเงินงบประมาณที่ใช้ใน 2 โครงการและค่าบริหารจัดการรวม 41,090 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายไว้ร่วมกับข้าวเปลือกหอมมะลิที่จำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก กำหนดวงเงินสินเชื่อ 90% ของราคาตลาด ให้วงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกเหนียวที่ความชื้นไม่เกิน 15% ไว้ที่ 9,500 บาท (ราคาตลาดอยู่ที่ 15,060 บาท) และให้ค่าเก็บรักษา 1,500 บาทต่อตัน กรอบระยะเวลาการให้สินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 สำหรับภาคใต้ขยายไปสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 มาตรการชะลอการขายข้าวเปลือกเหนียวครั้งนี้จะใช้วงเงินงบประมาณรวมกับการดำเนินมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ในวงเงินสินเชื่อ 23,734 ล้านบาท และวงเงินค่าใช้จ่าย 3,978 ล้านบาท ด้านมาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพสำหรับข้าวเปลือกเหนียวเป็นเช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวชนิดอื่นที่ 2,000 บาทต่อตัน (กำหนด 800 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่) โดยเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวไม่เกิน 12,000 บาทต่อครัวเรือน ไม่ว่าจะปลูกข้าวชนิดใด รวมวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าว 12,471 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน การช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย และเกษตรกร อาจจะถือว่า เป็นการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสทางการเงินน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆของสังคม แต่จะได้ผลเพียงใด ยังเป็นปริศนา ???