ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว  พระคติธรรม จากพระธรรมเทศนาพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เกี่ยวกับคำว่า “ปีใหม่” หยิบยกมานำเสนอต่อดังนี้

“ถัดไปเช่นคำว่า ปีใหม่มันก็เป็นคำหลอกๆ อยู่คำหนึ่งด้วยเหมือนกัน คำว่าปีนี้มันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัติไปตามลักษณะอาการของธรรมชาติ เช่นฝนตกคราวหนึ่งก็เรียกว่าปีหนึ่ง หมายความว่าฤดูฝนนี้มาถึงเสียแล้วก็รอไปอีกจนกว่าจะถึงฤดูฝนหน้า ก็คือระหว่างฤดูฝนนั้นเองเรียกสมมติว่าเป็นปีหนึ่ง และเมื่อฝนมันตกซ้ำๆซากๆ กันอยู่อย่างนี้ในลักษณะเดียวกันอย่างนี้ไปเรียกว่าปีใหม่ มันโง่หรือฉลาดก็ลองคิดดูก็แล้วกัน มันมีอะไรใหม่ที่ตรงไหนในตอนที่ฝนตกซ้ำๆ ซากๆ ในลักษณะที่เหมือนกันทุกปี นี้เรียกว่าปีแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่อะไรขึ้นมา  ทีนี้ความรู้สึกของคนแทนที่จะไปรู้สึกที่ตัวเอง กลับไปรู้สึกที่ปี เรียกว่าปีใหม่อย่างนี้มันก็หลับตาเป็นคนหลับตา ทำไมไม่มามองดูที่ชีวิต จิตใจ ร่างกายของตนเอง ว่ามันมีอะไรใหม่อะไรเก่าอย่างไร  ถ้ามาดูที่เนื้อที่ตัวที่ชีวิตจิตใจของตัวเองเห็นอะไรมันใหม่ออกมาบ้างก็ควรจะเรียกว่าไอ้นั่นแหละมันใหม่ ไม่ใช่ปีมันใหม่  

 ทีนี้ความใหม่ของคนหรือที่เนื้อที่ตัวของคนก็คือความเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอย่างหนึ่งไปสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นเป็นเด็กทารก แล้วก็เป็นเด็กโต เป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว เป็นคนผู้ใหญ่เต็มที่เป็นคนแก่คนเฒ่า แล้วก็คนตายนี่แหละดูเสียว่ามันมีอะไรมากไปกว่านี้ ถ้าจะดูให้ดี ดูให้จริงกันป่านนี้แล้วก็ไม่มีอะไรนอกจากว่า  คนเกิดขึ้นมาแล้วคนก็เป็นทุกข์ไปตามธรรมดาของคน แล้วคนก็ตาย และก็เป็นอยู่อย่างนี้ไม่ว่าประวัติศาสตร์มันจะยืนยาวไปสักกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านหรือกี่ร้อยล้านปี คนมันก็เกิดขึ้นมาแล้วมันก็เป็นทุกข์ แล้วมันก็ตายไป ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนี้อะไรมันใหม่ มันก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรใหม่ แต่แล้วคนก็ไม่ได้คิดกันในทำนองนี้ ไปคิดแบ่งแยกเล็กน้อยเป็นรายละเอียดออกไปถึงเรื่องของตัว เป็นความอยากเป็นความได้มาแล้วก็เป็นความพอใจหรือเป็นความเสียใจ แล้วก็เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นใหม่ซ้ำๆ ซากๆ กันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรใหม่เหมือนกันนี่แหละตามความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญนั้น จะเรียกว่าโง่หรือฉลาดนั้นดูเอาเองเถิด  ไม่มีอะไรใหม่ก็พูดว่าใหม่ แล้วความหมายของคำว่าใหม่ ก็มิได้มีอะไรผิดแปลกออกไปจากธรรมดา เมื่อเขากำลังพอใจในสิ่งที่แปลกเข้ามาก็เรียกว่าเป็นของใหม่ แต่แล้วมันก็เคยเป็นของที่เก่ามาแล้วซ้ำๆซากๆ ความใหม่อย่างนี้มันเป็นมายา หรือว่าเป็นของหลอกลวงอย่างไร ทุกคนมองดูเอาเองก็แล้วกัน

แต่ในที่สุดจะต้องมองให้เห็นว่าความใหม่ชนิดนี้มันเป็นมายา ความใหม่ชนิดนี้มันเป็นของหลอกลวง อย่าไปกระหยิ่มหรือ อย่าไปเห่อหรืออย่าไปหลงใหลในความใหม่ชนิดนี้  นั่นแหละก็จะเรียกว่าไม่ต้องติดกันไปกับความหลอกลวงหรือความมายา  ถ้าจิตใจมันฉลาดอย่างนี้บ้างจึงควรจะเรียกว่าจิตใจใหม่ ถ้าเป็นจิตใจที่ยังยินดียินร้าย ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามสิ่งทั้งหลายที่ตัวมีตัวได้ หรือมาเกี่ยวข้องกับตัวแล้วมันก็เป็นจิตใจเก่าคือโง่อยู่ตามเดิม  จิตใจที่มันไม่รู้อะไรมันไปโง่ในเรื่องเก่าเรื่องใหม่ในลักษณะอย่างนี้ ไม่ควรจะเรียกว่าจิตใจใหม่เพราะมันซ้ำซากอย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุด” (ยังมีต่อ) 

(https://www.pagoda.or.th/buddhadasa/2512.html)